สึนามิ

          วันเวลาผ่านไป ๕ ปีแล้วที่เกิดคลื่นสึนามิในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๕๔๐๐ คน ในจังหวัดทางภาคใต้ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ และสตูล

          คำว่า  สึนามิ  เป็นคำในภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า  Tsunami  แปลว่า คลื่นอ่าวจอดเรือ บางครั้งเรียกว่า คลื่นทุนามิ (Tunami) ก็มี  ตามพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายถึง ความหมายและสาเหตุของการเกิดคลื่นสึนามิ ดังนี้  สึนามิ หมายถึง คลื่นทะเลขนาดใหญ่ที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วและมีพลังมาก เกิดจากมวลน้ำในทะเลและมหาสมุทรได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจนกลายเป็นคลื่นกระจายตัวออกไปจากศูนย์กลางของการสั่นสะเทือนนั้น ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อมีแผ่นดินไหวรุนแรงใต้ท้องทะเล แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ เช่น การปะทุของภูเขาไฟบนเกาะหรือใต้ทะเล การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ทะเล และการพุ่งชนของอุกกาบาตขนาดใหญ่ลงบนพื้นน้ำในมหาสมุทร มีลักษณะแตกต่างจากคลื่นธรรมดาที่เกิดจากลมหลายประการ เช่น คลื่นธรรมดามีความยาวคลื่นเพียง ๑๐๐-๑๐๐๐ เมตร และความเร็วในการเคลื่อนที่ไม่เกิน ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่คลื่นสึนามิมีความยาวคลื่นมากถึง ๑๐๐-๑๐๐๐ กิโลเมตร และมีความเร็วในการเคลื่อนที่ ๗๐๐-๘๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อคลื่นซัดเข้าฝั่งหากเป็นคลื่นธรรมดามักมีความสูงไม่เกิน ๑ เมตร ยกเว้นในกรณีที่มีพายุอาจสูง ๒–๓ เมตร แต่คลื่นสึนามิจะมีความสูงถึง ๓๐ เมตร  ด้วยเหตุนี้คลื่นสึนามิจึงมีอำนาจในการทำลายล้างสูงจนถึงเป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงมากอย่างหนึ่งของมนุษย์

          เดิมเชื่อกันว่า คลื่นสึนามิเกิดจากการขึ้นลงที่ผิดปรกติของน้ำทะเล บริเวณที่มักเกิดคลื่นสึนามิบ่อยครั้งคือในมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนในทะเลอันดามันของมหาสมุทรอินเดียนั้นไม่เคยเกิดคลื่นสึนามิที่รุนแรงมาก่อน

จำเรียง  จันทรประภา