สุนทรียสนทนา

          ตามความหมายที่เราคุ้นเคยกัน คำว่า สนทนา หมายถึง คุยกัน ปรึกษาหารือกัน พูดจาโต้ตอบกัน แต่ในปัจจุบันมีศัพท์ทางวิชาการที่น่าสนใจคำหนึ่งคือคำว่า dialogue ซึ่งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสถาน ได้นำคำ สนทนา ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการบัญญัติศัพท์ที่มีความหมายมากกว่าการสนทนาอย่างที่เราเคยรู้จักกันมา คำว่า dialogue มาจากภาษากรีกว่า dialogos การสนทนาแบบ dialogue เป็นการสื่อสารสัมพันธ์กันทางการพูดและการฟังที่ทั้งกลุ่มมีอิสระ ผ่อนคลาย เกิดความเข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้ง ชัดเจน คณะกรรมการฯ จึงได้บัญญัติศัพท์คำ dialogue ไว้ ๒ ความหมาย ดังนี้ ความหมายที่ ๑ การสนทนาโต้ตอบ หมายถึง การสนทนาถามตอบอย่างมีสาระ จนเกิดการเรียนรู้ และเป็นวิธีการสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยตั้งคำถามซักถามให้ผู้ฟังตอบและอธิบายจนเกิดความเข้าใจ ความหมายที่ ๒ สุนทรียสนทนา ซึ่งเป็นชื่อหัวข้อในวันนี้ หมายถึง การสนทนาแบบเปิดกว้าง ที่เน้นการฟังอย่างลึกซึ้ง มีสมาธิจิตใจจดจ่อ ใคร่ครวญ เมื่อผู้ใดต้องการพูดก็พูดตามที่ใจคิด จิตอิสระ คิดทางบวก และมีเมตตาต่อกัน เป็นการสนทนาอย่างปล่อยวาง ลดอัตตาความเป็นตัวตน ไม่ยึดมั่นในความคิดของตนฝ่ายเดียว จึงลดความขัดแย้ง เกิดความเข้าใจกันในกลุ่ม นำไปสู่ความคิดที่มีคุณค่าร่วมกัน การจัดสุนทรียสนทนาเป็นกิจกรรมการเรียนรู้แบบหนึ่งที่เน้นคุณค่าทางจิตใจและความสัมพันธ์ในสังคม ทุกคนในวงสนทนามีความเท่าเทียมกัน เป็นกัลยาณมิตร มีการรับฟังอย่างใคร่ครวญ ไตร่ตรองความคิดของผู้พูดโดยไม่เอาความเห็นของตนเองไปโต้แย้งหรือซักถาม เมื่อพูดแสดงความคิดก็เป็นไปอย่างเปิดใจ ชัดเจน สุภาพ ตามความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอย่างแท้จริง มีความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างทางความคิด แม้การสนทนาจะไม่มีการสรุปหรือตัดสิน แต่การที่บุคคลได้ฟังอย่างตั้งใจและรับรู้เรื่องราวอย่างหลากหลาย ย่อมเกิดความคิดและเจตคติที่ดีต่อเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม พัฒนาทักษะทางสังคม นำไปสู่การเรียนรู้และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก