สุลต่านวาลิเด (Sultan Valide)

          สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๕ อธิบายว่า สุลต่านวาลิเด (Sultan Valide) เป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดของฮาเร็มหรือราชสำนักฝ่ายในของจักรวรรดิออตโตมันอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้คือ พระราชชนนีของสุลต่าน ตำแหน่งนี้ปรากฏชัดเจนตั้งแต่สมัยสุลต่านสุไลมานที่ ๑ (ค.ศ. ๑๕๒๐-๑๕๖๖) เป็นต้นมา เมื่อพระราชชนนีของสุลต่านสุไลมานที่ ๑ สิ้นพระชนม์  พระมเหสี (เดิมเป็นนางทาสชาวรัสเซีย) ที่เรียกกันว่า ฮูร์เร็มสุลต่าน (Hurrem Sultan) ได้สืบทอดตำแหน่งสุลต่านวาลิเดซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญของจักรวรรดิ เพราะพวกออตโตมันมีความคิดว่า บุรุษสามารถมีภรรยาได้หลายคน แต่มีมารดาได้เพียงคนเดียว และมารดาเป็นเพียงบุคคลเดียวที่เขาสามารถไว้วางใจได้ พระนางสามารถตั้งตนเป็นใหญ่และปกครองฮาเร็ม รวมทั้งก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองในจักรวรรดิออตโตมันจนสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๕๕๘  นับแต่สมัยของพระนางเป็นต้นมา จักรวรรดิออตโตมันก็ตกอยู่ในยุคการปกครองของสตรี หรือเรียกว่า “ยุคสุลต่านหญิง” ที่ฮาเร็มได้ปกครองเหนือสุลต่านอย่างแท้จริง พระราชชนนีมีบทบาทและพระราชอำนาจสูงสุดในฮาเร็มแทนสุลต่าน ทรงมีหน้าที่กำกับดูแลเหล่ามเหสีเทวีและนางในทุกคน อีกทั้งตำแหน่งพระราชชนนีก็เป็นที่หมายปองของนางในฮาเร็มทุกคนด้วย ทำให้ผู้อยู่ในตำแหน่งมเหสีต่างวางแผนเพื่อผลักดันให้โอรสของตนเองได้สืบบัลลังก์สุลต่าน อันเป็นหนทางไปสู่อำนาจในการปกครองจักรวรรดิด้วย ถ้าหากโอรสทรงเป็นสุลต่านที่อ่อนแอ  นับแต่สุลต่านสุไลมานที่ ๑ สุลต่านองค์ต่อ ๆ มาแทบทุกพระองค์ล้วนอ่อนแอทั้งสิ้น จึงเป็นการเปิดโอกาสให้สุลต่านวาลิเดเข้าบริหารประเทศ ฮาเร็มจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการเมืองภายในประเทศ การวางแผน การครองอำนาจ การติดสินบน และอื่น ๆ  ส่วนสุลต่านก็ละเลยต่อพระราชกิจ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จักรวรรดิออตโตมันเสื่อมลงเป็นลำดับ.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน