หนูจ๋า

          เพิ่งจะอำลาปีหนูไปหยก ๆ  (หมายถึง เพิ่งทํามาเร็ว ๆ นี้ สด ๆ ร้อน ๆ เช่น บอกอยู่หยก ๆ ไม่น่าลืมเลย มาถึงหยก ๆ โดนใช้งานเสียแล้ว เผื่อว่าจะมีคนไม่เข้าใจก็เลยขอบอกไว้นิดนะคะ)  ก็บังเอิญว่าได้ไปพบเรื่องหนูที่น่าสนใจเข้าพอดี  เพราะคำว่า หนู นอกจากจะใช้เป็นคำนาม หมายถึง ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายสกุลในวงศ์ Muridae มีฟันแทะ มีอยู่ทั่วไปตามบ้านเรือนและในถิ่นธรรมชาติ มีหลายชนิด เช่น หนูพุกใหญ่ (Bandicota indica ) หนูท้องขาว (Rattus rattus ) บางชนิดเป็นพาหะนําโรค  หรือใช้เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง  เล็ก (ใช้เฉพาะพรรณไม้บางอย่างที่มีพันธุ์เล็กหรือของบางอย่างชนิดเล็ก) เช่น กุหลาบหนู แตงหนู หม้อหนู   แล้วยังใช้แทนสรรพนามบุรุษที่ ๑ ผู้น้อยใช้พูดกับผู้ใหญ่ สรรพนามบุรุษที่ ๒ ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้น้อย คําสําหรับเรียกเด็ก มีความหมายไปในทางเอ็นดู เช่น หนูแดง หนูน้อย  ซึ่งความหมายนี้เองที่น่าสนใจ เพราะว่าระหว่างที่ผู้เขียนเข้าประชุมในคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย  กรรมการจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (นางสุริศา  ไขว้พันธุ์)  ได้ชี้แจงถึงประกาศยกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคำนำนามเด็ก พ.ศ. ๒๔๖๔  แต่ที่ผู้เขียนสนใจคือ ในประกาศดังกล่าวได้อ้างถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า  “คำว่า หนู เปนศัพท์ที่เพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า ‘อินู’…ให้คงใช้คำว่า ‘เด็ก’ ซึ่งเป็นคำไทยแท้นั้นแต่คำเดียว”   ก็เลยได้รู้ว่า หนู มาจากภาษาจีน  ทำให้ผู้เขียนคิดว่าการค้นคว้าจากกฎหมายก็มีประโยชน์อย่างนี้นี่เอง ใช่ว่าจะต้องมีแต่เรื่องคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลเสียเมื่อไร แต่ถ้ารู้กฎหมายมาก ๆ แล้วก็อย่าใช้กฎหมายเอาเปรียบใครนะคะ เดี๋ยวเวรกรรมจะตามทัน   นอกจากนี้ยังมีสำนวนเกี่ยวกับหนูอีก เช่น หนูตกถังข้าวสาร หมายถึง ผู้ชายที่มีฐานะไม่ค่อยดีได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ร่ำรวย ตกถังข้าวสาร ก็ว่า หนูติดจั่น หมายถึง จนปัญญา หาทางออกไม่ได้

          แต่นี่ก็ปีวัวแล้ว…หวังว่าคงจะไม่มีใครต้องเป็นหนูติดจั่นนะคะ.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก