หน่วยวัดโบราณ

          ถ้าเอ่ยถึงคำว่า หน่วยวัด หลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วหรือเคยเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหน แต่วันนี้คอลัมน์นี้ได้เลือกเรื่องของหน่วยวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณและเป็นหน่วยวัดที่มีค่าแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละพื้นที่มาเสนอจำนวน ๓ หน่วย

          เริ่มที่คำว่า แองเคอร์ ซึ่งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์โบราณคดีสากล ราชบัณฑิตยสถาน ได้กล่าวถึงไว้ว่า แองเคอร์ สะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า anker หรือ anchor ซึ่งเป็นคำมาจากภาษาดัตช์ หมายถึง ถังบรรจุไวน์ แองเคอร์เป็นหน่วยวัดปริมาณของเหลว ใช้กันในเกาะอังกฤษและทางตอนเหนือของทวีปยุโรป โดยใช้ถังบรรจุไวน์เป็นหน่วยวัด ในอังกฤษ ๑ แองเคอร์ มีค่าเท่ากับ ๓๗.๘๕ ลิตร หรือ ๑๐ แกลลอนสหรัฐอเมริกา ส่วนในสกอตแลนด์ ๑ แองเคอร์ มีค่าเท่ากับ ๓๔ ลิตร หรือ ๒๐ ไพนต์สกอตแลนด์ จาก แองเคอร์ ก็ขอต่อไปที่คำว่า เอเคอร์ หรือ acre คำว่า acre เป็นคำภาษาอังกฤษโบราณ มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า ager ซึ่งมีความหมายว่า สนาม เอเคอร์เป็นหน่วยวัดพื้นที่ ใช้ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ เมื่อประมาณช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๘ พื้นที่ ๑ เอเคอร์ หมายถึง พื้นที่ที่คน ๑ คนสามารถไถพรวนด้วยไถลากด้วยวัวเสร็จได้ใน ๑ วัน แต่ต่อมาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๙ ๑ เอเคอร์ มีค่าเท่ากับ ๔๘๔๐ ตารางหลา หรือประมาณ ๔๐๐๐ ตารางเมตร หรือประมาณ ๒ ไร่ครึ่ง หน่วยวัดลำดับสุดท้ายที่จะกล่าวถึงคือ ดิจิต สะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า digit ซึ่งมาจากคำว่า digitus ในภาษาละติน แปลว่า นิ้วมือ หรือนิ้วหัวแม่เท้า ดิจิต เป็นหน่วยวัดระยะทางของคนในอารยธรรมสมัยโบราณในภูมิภาคตะวันออกกลางและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ๑ ดิจิต หมายถึง ระยะทาง ๑ นิ้วมือของคน ซึ่งเท่ากับประมาณ ๐.๗๕ นิ้ว หรือ ๑๙ มิลลิเมตร ในระบบวัดระยะสมัยโบราณกำหนดว่า ๔ ดิจิต มีค่าเท่ากับ ๑ ปาล์ม (palm) หรือ ๑ ฝ่ามือ ๑๖ ดิจิต มีค่าเท่ากับ ๑ ฟุต (foot) หรือ ๑ เท้า ๒๔ ดิจิต มีค่าเท่ากับ ๑ คิวบิต (cubit) หรือ ๑ ศอก.

นฤมล บุญแต่ง