หมายเลขทางหลวง

          คุณผู้อ่านคงเคยเดินทางออกต่างจังหวัด และสังเกตเห็นป้ายทางหลวงบอกตัวเลขตัวเดียวใหญ่ ๆ  รองลงมาเป็นเลข ๒ ตัวบ้าง ๓ ตัวบ้างจนถึงเลข ๔ ตัว นั่นคือระบบหมายเลขกำกับทางหลวงต่าง ๆ ซึ่งหนังสือ “อ่านอย่างไร และเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” อธิบายว่า ทางหลวงที่มีเลขหนึ่งตัว หมายถึง ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงพิเศษที่เป็นถนนสายหลัก เชื่อมการคมนาคมระหว่างภาคต่อภาค ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ หรือ ถนนพหลโยธิน จากกรุงเทพฯ สู่ภาคเหนือไปสิ้นสุดที่จังหวัดเชียงราย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ หรือ ถนนมิตรภาพ จากจังหวัดสระบุรีสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย  ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓ หรือ ถนนสุขุมวิท จากกรุงเทพฯ สู่จังหวัดทางภาคกลางรวมถึงชายทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ไปสิ้นสุดที่จังหวัดตราด ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ หรือ ถนนเพชรเกษม จากกรุงเทพฯ สู่ภาคใต้ไปสิ้นสุดที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

          ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๕ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดเชียงราย  ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๖ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดหนองคาย  ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๗ เป็นถนนเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดจันทบุรี  ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๘ เป็นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา  ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๙ เป็นถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ

          ทางหลวงที่มีเลขสองตัว   คือ  ทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงพิเศษที่เป็นสายประธานตามภาคต่าง ๆ  ทางหลวงที่มีเลขสามตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินสายรอง  ทางหลวงที่มีเลขสี่ตัว คือ ทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกับอำเภอ หรือสถานที่สำคัญของจังหวัดนั้น 

          การอ่านหมายเลขทางหลวงให้อ่านเรียงตัว  ดังตัวอย่าง  หมายเลขทางหลวง ๒๑ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง  สอง-หฺนึ่ง   หมายเลขทางหลวง ๓๑๔ อ่านว่า หฺมาย-เลก-ทาง-หฺลวง  สาม-หฺนึ่ง-สี่

รัตติกาล  ศรีอำไพ