หลักสูตรบูรณาการ

เพลงยาวถวายโอวาทของสุนทรภู่ตอนหนึ่งที่ว่า “…อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ  ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก  สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก  จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย…” แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ประดุจดังมีอาวุธคู่กายไว้ใช้รักษาตัวรอดเมื่อคราวจำเป็น  วิชาความรู้ซึ่งเปรียบเหมือนอาวุธคู่กายนั้น หากผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำความรู้ในหลายสาขาวิชามาปรับใช้รวมกันได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  ปัจจุบันจึงมีแนวคิดที่นำความรู้จากศาสตร์หลายสาขาวิชามาเชื่อมโยงกันเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างรอบด้าน และเห็นความสัมพันธ์ของเรื่องที่เรียนกับชีวิตจริง  เป็นการผสมผสานเนื้อหาสาระความรู้ระหว่างสาขาวิชาต่างๆ มาเชื่อมโยงให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบและเรียงลำดับเพื่อจัดการเรียนรู้ โดยยึดสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นหลักและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนคิดเป็นระบบที่เชื่อมโยงและเป็นองค์รวม  ซึ่งพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายไว้ดังนี้

หลักสูตรบูรณาการ (integrated curriculum) หมายถึง หลักสูตรที่นำสาระจากศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน หรือไม่เกี่ยวข้องกันก็ได้ มาผสมผสานหลอมรวมกันเพื่อให้เกิดเป็นองค์รวมหรือเรื่องที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง สาระที่นำมาบูรณาการมีหลายประเภท เช่น เนื้อหา มโนทัศน์ คุณธรรม กระบวนการ กิจกรรมการเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งต้องจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการด้วย   หลักสูตรบูรณาการที่นิยมจัดทำมี ๔ ลักษณะ คือ ๑) บูรณาการภายในสาขาวิชา (intradisciplinary integration) เป็นการผสมผสานเนื้อหาสาระต่างๆ ที่อยู่ในสาขาวิชาเดียวกัน เช่น บูรณาการทักษะการพูด ฟัง อ่าน และเขียน ในวิชาภาษาไทย  ๒) บูรณาการระหว่างสาขาวิชา (interdisciplinary integration) เป็นการผสมผสานเนื้อหาสาระระหว่าง ๒ สาขาวิชา โดยยึดสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นแกนหลัก เช่น บูรณาการระหว่างสาระทางวิทยาศาสตร์กับสาระทางสังคมศาสตร์  ๓) บูรณาการแบบพหุสาขาวิชา (multidisciplinary integration) เป็นการผสมผสานเนื้อหาสาระตั้งแต่ ๒ สาขาวิชาขึ้นไป โดยยึดสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นแกนหลัก และ  ๔) บูรณาการแบบข้ามสาขาวิชา (transdisciplinary integration) เป็นการผสมผสานเนื้อหาหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน และหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่ยึดสาขาวิชาใดเป็นแกน.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก