หินดำ

          ภาพชาวมุสลิมที่เดินทางมาจากทั่วโลกกำลังเดินเวียนรอบหินดำ ในการประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย  ทำให้เกิดความสงสัยและอยากรู้ว่า หินดำ คืออะไร 

          พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า ในภาษาอาหรับเรียกหินดำที่อาคารอัลกะอ์บะฮ์ว่า อัลหะญะรุล อัสวัด  ซึ่งมาจากคำภาษาอาหรับ ๒ คำคือ อัลหะญะรุ ซึ่งแปลว่า หิน  และอัลอัสวะดุ ซึ่งแปลว่า ดำ หินดำนี้บรรจุอยู่ที่มุมอาคารอัลกะอ์บะฮ์ด้านตะวันออกเฉียงใต้ ด้านขวาของประตูหุ้มทองคำซึ่งมีเพียงประตูเดียวของอาคารนี้  สูงจากฐานราว ๕ ฟุต มีสัณฐานเป็นรูปไข่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๗ นิ้ว ประกอบด้วยหินขนาดเล็กประมาณ ๑๒ ก้อน เหมือนเคยเป็นก้อนดียวกันมาก่อนแล้วแตกออกจากกันโดยมีซีเมนต์ยึดรวมไว้บาง ๆ และหุ้มไว้ด้วยกรอบเงินอีกทีหนึ่ง

          หินดำนี้ถือเป็นที่หมายสำหรับผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ ใช้เป็นจุดเริ่มต้นและกำหนดการเวียนรอบอาคาร ๗ รอบ ผู้มาประกอบพิธีฮัจญ์ต้องเวียนรอบอาคารโดยหันด้านซ้ายของลำตัวเข้าหาอาคาร เริ่มจากจุดที่หินดำบรรจุอยู่ด้วยการสัมผัสหรือจุมพิตหินดำ หากสามารถทำได้โดยไม่เบียดเสียดสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น หรือเป็นอันตรายต่อตนเอง แต่หากไม่สามารถเข้าไปสัมผัสหรือจุมพิตได้ ให้ยกมือขึ้นเป็นสัญญาณแทนการแตะหรือสัมผัสหินดำจากตำแหน่งหินดำที่ตนยืนอยู่แล้วจึงเริ่มเวียนรอบอาคาร เมื่อเวียนมาบรรจบตำแหน่งของหินดำก็ให้จุมพิต สัมผัส หรือยกมือเป็นสัญญาณ จนกว่าจะครบ ๗ ครั้ง ในแต่ละครั้งต้องกล่าวว่า “ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์ทรงยิ่งใหญ่ที่สุด”

          ความเป็นมาของหินดำที่อัลกะอ์บะฮ์นั้น ปรากฏหลักฐานเป็น ๒ นัย คือ หินดำลงมาจากสวรรค์พร้อมกับท่านนบีอาดัม  และเรื่องราวของหินดำกลับมาปรากฏเมื่อท่านนบีมุฮัมมัดเป็นผู้บูรณะอาคารอัลกะอ์บะฮ์ขึ้น  แสดงให้เห็นว่าหินดำคงอยู่คู่กับอาคารอัลกะอ์บะฮ์มาตั้งแต่โบราณกาล.

       กนกวรรณ  ทองตะโก