ห้องเรียนกลับทาง

         คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตสถาน อธิบายว่า ห้องเรียนกลับทาง (flipped classroom) หมายถึง การเรียนการสอนที่ผู้เรียนศึกษาสาระสำคัญของบทเรียนด้วยตนเองที่บ้าน และนำผลงานหรือปัญหาที่บันทึกไว้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูหรือเพื่อนในห้องเรียน ซึ่งแนวคิดเรื่องห้องเรียนกลับทางนี้ นำเสนอโดย แอรอน แซมส์ (Aaron Sams) ครูวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน โดยให้ผู้เรียนค้นคว้าสาระความรู้จากแหล่งความรู้ เช่น เอกสาร วีดิทัศน์ สื่อต่าง ๆ ที่ครูจัดเตรียมไว้ นำไปศึกษาหรืออ่านเองที่บ้าน แล้วบันทึกหรือจดประเด็นสำคัญ ตั้งคำถามเพื่อนำมาเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชั้นเรียน การใช้เวลาส่วนใหญ่ในชั้นเรียนจึงเป็นการที่ครูเป็นผู้ชี้แนะ (coach) สร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนพูด เสนอความรู้ที่ได้ ตั้งคำถามที่สงสัย ฟังคำตอบจากเพื่อนและการสรุปสาระการเรียนรู้ร่วมกัน

         ห้องเรียนกลับทางเป็นวิธีการจัดกิจกรรมที่เปลี่ยนบทบาทของครูจากการเป็นผู้บรรยาย อธิบายเนื้อหาบทเรียนโดยใช้เวลาเกือบทั้งหมดของชั่วโมงเรียน มาเป็นผู้ออกแบบการเรียนการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกวิธีการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน การเตรียมแหล่งข้อมูลให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเองที่บ้าน อาจเป็นโครงงาน ขั้นตอนการทดลอง การแก้โจทย์ปัญหา โดยที่ครูกำหนดขอบเขตของงานให้เหมาะสมกับเวลาที่ใช้ เมื่อผู้เรียนกลับมาเรียนในห้องเรียน ครูจะพบว่าผลงานของผู้เรียนมีความแตกต่างกัน เป็นโอกาสที่ครูได้เข้าใจผู้เรียนแต่ละคนว่ามีความสามารถ ความสนใจระดับใด กิจกรรมการเรียนในห้องเรียนจึงเน้นบรรยากาศการมีส่วนร่วม การช่วยเหลือผู้เรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบทเรียน และเชื่อมโยงเนื้อหาสาระของบทเรียนกับการปฏิบัติจริง เป็นการฝึกทักษะการคิดและทักษะทางสังคม ซึ่งการจัดห้องเรียนกลับทางนี้มิได้เกิดผลแก่ผู้เรียนในด้านความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาวิธีการคิด ฝึกฝน ทักษะการสื่อสาร ความรับผิดชอบและนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนของผู้เรียนอีกด้วย ทั้งนี้ ผลการเรียนของผู้เรียนจะดียิ่งขึ้นถ้าผู้ปกครองเข้าใจและมีส่วนร่วมสนับสนุนอย่างจริงจัง.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก