องค์กรแห่งความสุข

         การดำเนินงานใด ๆ ให้ประสบความสำเร็จนั้น ปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ทรัพยากรมนุษย์ ความสำเร็จของงานจึงต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนที่ทำงานนั้นด้วย ทั้งองค์กรและคนทำงานจึงต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หากองค์กรสามารถพัฒนาส่งเสริมให้คนทำงานนำศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคนนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่องค์กรได้ องค์กรนั้นก็จะไปสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป แต่การที่คนเราจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นคนจะต้องมีความสุขเสียก่อน จึงเกิดแนวคิดที่พยายามให้องค์กรสร้างความสุขให้แก่คนในองค์กร ซึ่งคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสถาน จัดทำคำอธิบายเกี่ยวกับ องค์กรแห่งความสุข (happy workplace) ไว้ดังนี้

         องค์กรแห่งความสุข (happy workplace) หมายถึง หน่วยงาน สถานประกอบการ สถานศึกษา ที่ทำงาน ที่มีความมั่นคงก้าวหน้าตามจุดประสงค์ของภารกิจ คนในองค์กรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความพึงพอใจและตั้งใจทำงาน สถานที่ทำงานมีบรรยากาศเกื้อหนุนให้บุคลากรมีสุขภาพดี และทุกคนทุกระดับในองค์กรทำงานร่วมกันอย่างสมานฉันท์ องค์กรแห่งความสุข มีกระบวนการที่เน้นสุขภาวะของคนทำงานในองค์กร หลักการที่สำคัญคือความสำเร็จของภารกิจนั้นขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของบุคคลทุกฝ่าย และที่จะขาดไม่ได้คือ ความสุขของทุกคน เนื่องจากคำว่า “องค์กรแห่งความสุข” มีลักษณะเป็นนามธรรม การอธิบายจึงต้องเชื่อมโยงสู่ชีวิตของคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกันในองค์กร แนวคิดเรื่องความสุข องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพได้กำหนดองค์ประกอบของชีวิตคนที่มีความสุขไว้ ๘ ประการ คือ สุขภาพดีทั้งกายและจิตใจ (happy body) น้ำใจงาม (happy heart) ชีวิตที่ผ่อนคลาย (happy relax) พัฒนาสมองอยู่เสมอ (happy brain) สุขแท้ด้วยคุณธรรม (happy soul) ไม่เป็นหนี้ (happy money) ครอบครัวอบอุ่น (happy family) และสังคมสงบสุข (happy society) ความสุขทั้ง ๘ ประการ ดังกล่าวเป็นที่มาของตัวชี้วัดสุขภาวะขององค์กรที่เน้นความสำคัญของคนทำงานในทุกฝ่าย ทุกระดับ ได้ทำงานในสถานที่ที่ตนเองมีความสุข ความสุขของบุคคลย่อมเชื่อมโยงกับสภาพของสังคมเป็นวงกว้าง ถ้าคนในสังคมฉกฉวยผลประโยชน์ แก่งแย่งแข่งดีกัน ขาดความเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนกัน สังคมนั้นย่อมวุ่นวาย บุคคลจะมีความสุขได้ ต่อเมื่อช่วยกันสร้างสังคมสันติ ร่วมกันสร้างชุมชนน่าอยู่ เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดี.

จินดารัตน์ โพธิ์นอก