อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

          อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งอยู่กลางวงเวียนสี่แยกถนนพญาไทตัดกับถนนราชวิถี ตรงต้นถนนพหลโยธิน เป็นอนุสาวรีย์ที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อเชิดชูเกียรติบรรดาผู้พลีชีพเพื่อชาติและเป็นอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะต่อฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีน

          สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า เนื่องจากการสู้รบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนเป็นเวลา ๒ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ถึงวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔  หลังจากการลงนามในสัญญาสันติภาพเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ แล้ว ผลของสงครามอินโดจีนทำให้ไทยได้ดินแดนบางส่วนที่เสียไปคืนจากฝรั่งเศส (คือดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง และตรงข้ามเมืองปากเซในประเทศลาว เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณในประเทศกัมพูชา แต่ก็ต้องคืนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) ไทยสูญเสียชีวิต ทหาร ตำรวจ และพลเรือนรวมทั้งสิ้น ๕๙ คน รัฐบาลมีมติให้สร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิให้เป็น “รัฐปิยานุสสรณ์” โดยให้หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล เป็นผู้ออกแบบ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้อำนวยการปั้นหล่อรูปวีรชน มีรัฐพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (ขณะนั้นถือเป็นวันชาติ) การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีลักษณะเป็นรูปดาบปลายปืน ๕ เล่มรวมกัน สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อนสูง ๕๐ เมตร ตรงโคนดาบทั้ง ๕ ด้านประดิษฐานรูปปั้นวีรชนคือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือนไว้โดยรอบ ที่ฐานอนุสาวรีย์มีแผ่นทองแดงจารึกชื่อวีรชนที่เสียชีวิต ๕๙ คนไว้  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๑ กระทรวงกลาโหมได้ประกอบพิธีบรรจุอัฐิวีรชนผู้กล้าหาญและจารึกชื่อเพิ่มเติมไว้ที่แท่นฐานอนุสาวรีย์เป็นกรณีพิเศษ  ปัจจุบันมีการวางพวงมาลารำลึกถึงวีรชนผู้เสียสละในวันทหารผ่านศึก คือวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ของทุกปี.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน