อภัยทาน

          หลายท่านที่เข้าไปทำบุญในวัดอาจเคยเห็นป้ายที่เขียนว่า “เขตอภัยทาน”  คำนี้เป็นอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจ  และมีคำอธิบายอยู่ในพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ดังนี้

          คำว่า “อภัยทาน” (Abhayadana) ตามรูปศัพท์แปลว่า การให้อภัย หมายถึง การให้ความไม่มีภัย ความไม่น่ากลัว ซึ่งก็ได้แก่ การให้ความเมตตา ความปรารถนาดี ขอให้ผู้อื่นเป็นสุข หลีกเว้นการทำลายล้างซึ่งกันและกัน ในทางตรงกันข้ามกลับให้การดูแลคุ้มครองอันมีพื้นฐานจากเมตตาและกรุณา   เรื่องราวของอภัยทานมีปรากฏมากในอรรถกถาชาดกเรื่องต่าง ๆ ซึ่งมีการอธิบายความเกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีในชาติต่าง ๆ ของพระโพธิสัตว์ ส่วนมากเป็นเรื่องการให้อภัยแก่สัตว์ประเภทเนื้อ เช่น เก้ง กวาง อรรถกถาชาดกบางเรื่องเล่าว่า พระโพธิสัตว์เคยเสวยชาติเป็นกวางและอยู่ในวาระจะถูกพระราชาล่า แต่พระโพธิสัตว์ก็หาวิธีกล่าวให้พระราชาได้สติและเลิกละการทรงกีฬาล่าสัตว์และพระราชทานป่าล่าสัตว์นั้นให้เป็นเขตอภัยทาน  กล่าวคือ สัตว์ทุกตัวหากเข้ามาในป่านั้นจะได้รับการไว้ชีวิตและได้รับการคุ้มครอง ใครจะล่าหรือฆ่าหรือทำร้ายมิได้

          ในสังคมไทย เรื่องอภัยทานเป็นที่รู้จักกันดีเกี่ยวกับบุคคล กฎหมายกำหนดให้มีการอภัยโทษได้ในกรณีที่ผู้ทำผิดต้องโทษประหารชีวิต แต่ผู้ที่จะให้อภัยโทษขั้นนี้ได้ต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินเพราะถือว่าทรงเป็นเจ้าชีวิต  ฉะนั้นจึงเรียกการอภัยโทษนี้ว่า การพระราชทานอภัยโทษ  ในด้านศาสนสถาน วัดทางพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นเขตอภัยทานที่สำคัญ ในยุคโบราณใครที่อยู่ในวัดจะได้รับการคุ้มครอง ในปัจจุบันการทำร้ายชีวิตสัตว์ในวัดก็ยังเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้  บางวัดมีสัตว์อาศัยอยู่มากชนิดทั้งปลาและนก จึงมีผู้ลอบทำร้ายสัตว์เหล่านี้อยู่มาก และเพื่อเป็นการเตือนสติ ทางวัดจึงต้องติดป้ายประกาศว่า “เขตอภัยทาน”.

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์