อสูร

          คำว่า อสูร มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ยักษ์ ในบทกลอนใช้ว่า อสุรา อสุรี หรือ อสุเรศ ก็มี

          พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า อสูร เป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่ง คำ อสูร ในบทเก่าแก่ของฤคเวทเป็นคำเรียกเทพเจ้า มีบทสรรเสริญหลายบท และเป็นชื่อเดียวกับอหุราของลัทธิศาสนาโซโรแอสเตอร์ ดังนั้นจึงมีเทพหัวหน้าหลายองค์ที่เรียกว่า อสูร เช่น พระอินทร์ พระอัคนี ต่อมาคำอสูรกลับเป็นชื่อฝ่ายปฏิปักษ์ของเทพ การเรียกฝ่ายศัตรูของเทพว่า อสูร นั้นพบในฤคเวทภาคหลัง ๆ ไม่ใช่อาถรรพเวท และในคัมภีร์ชั้นหลัง เช่น ปุราณะต่าง ๆ มีความหมายว่า “ไม่ใช่สุระ” หรือ “ไม่ใช่เทพ” แต่เป็นอริของเทวดาทั้งหลาย

          ในวรรณคดีไทยเรียกอสูรเป็นหลายชื่อ และมักเรียกปน ๆ กันไป ว่า ยักษ์ มาร กุมภัณฑ์ อสุรา อสุรี แม้แทตย์และรากษสก็มักเรียกในความหมายเดียวกันนี้ และคงหมายถึงอมนุษย์จำพวกเดียวกัน ถือว่าอสูรเป็นยักษ์มีรูปร่างใหญ่โต หน้าตาดุร้าย มีเขี้ยวงอกยาว ใจคออำมหิตร้ายกาจ ชอบกินมนุษย์และสัตว์เป็น ๆ เป็นอาหาร โดยมากมีฤทธิ์เหาะได้ จำแลงกายได้ เช่น อสูรในรามเกียรติ์ และเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง ในบทละครเรื่อง ศกุนตลา บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงกาลเนมีที่ไปรบกวนพระอินทร์และเทวดาอยู่เนือง ๆ พระอินทร์ต้องให้ท้าวทุษยันต์ตัวเอกของละครเรื่องนี้ไปปราบ และลูกหลานของกาลเนมีก็ถูกพระนารายณ์สังหารในปางนรสิงหาวตารใน ลิลิตนารายณ์สิบปาง

          สรุปโดยทั่วไปอสูรเป็นฝ่ายข้างร้าย เป็นสัญลักษณ์ของความโหดร้ายและความชั่ว มักเรียกชื่อปน ๆ กันไปเป็นหลายชื่อ ทั้งที่ในวรรณคดีสันสกฤตได้กล่าวถึงประวัติและที่มาของชื่อเหล่านั้นไว้แตกต่างกัน กล่าวได้ว่า อสูรเป็นพวกที่ไม่ใช่เทวดาและเป็นปฏิปักษ์กับเทวดาเสมอมา.

อิสริยา เลาหตีรานนท์