อักขราภิธานศรับท์ ของ หมอบรัดเลย์

หมอบรัดเลย์ หรือ Dan Beach Bradley หรือที่คนไทยเรียกว่า “ปลัดเล” เป็นทั้งนายแพทย์และมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕

ท่านผู้นี้เกิดที่เมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) ในมลรัฐนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๔๗ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ และมาสิ้นชีวิตในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๑๖

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๗ นี้ ท่านมีอายุครบ ๒๐๐ ปี จึงมีการจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึง “สองศตวรรษหมอบรัดเลย์” กันขึ้น ทั้งในด้านการทำนิตยสารฉบับพิเศษ และการเสวนาทางวิชาการ

มีคนอยากให้ผู้เขียนไปคุยเรื่อง อักขราภิธานศรับท์ หรือ พจนานุกรม (ไทย-ไทย) ของหมอบรัดเลย์ เพราะอาจจะเคยเห็นว่าผู้เขียนเคยใช้พจนานุกรมฉบับนี้อ้างอิงในข้อเขียน แต่ผู้เขียนก็ต้องขอตัว เพราะการใช้พจนานุกรมฉบับใดฉบับหนึ่งมิได้หมายความว่าจะสามารถเล่าเรื่องเกี่ยวกับพจนานุกรมฉบับนั้นได้ ต้องเป็นผู้ที่สนใจค้นคว้าจริงๆ เท่านั้นจึงจะทำได้

ผู้เขียนจึงขอแก้ตัวด้วยการแนะนำผลงานของนักวิชาการที่ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้แล้ว นั่นก็คือ งานของ ศาสตราจารย์ ดร.ธีระพันธ์ ล. ทองคำ ท่านได้ทำวิจัยเรื่อง การทำพจนานุกรม ไทย-ไทย : อดีต-ปัจจุบัน (๒๓๘๙-๒๕๓๓) และเผยแพร่ไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔

 

จะขอเล่าให้ฟังแต่เพียงย่อๆ ได้ว่า หมอบรัดเลย์ มีเหตุผลสองประการที่ทำพจนานุกรมเล่มนี้ขึ้น วัตถุประสงค์ข้อแรกก็คือ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมิชชันนารีที่ต้องการเรียนรู้ภาษาไทย

ส่วนวัตถุประสงค์ประการที่สองก็คือ เพื่อวางมาตรฐานการใช้ภาษาไทยให้แก่คนไทย โดยท่านเห็นว่า พจนานุกรมที่มีศัพท์หลักเป็นภาษาไทย และมีบทนิยามศัพท์เป็นภาษาไทย ดีกว่าพจนานุกรมไทยที่มีบทนิยามเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เพราะในสมัยนั้นถึงแม้จะมีหนังสือไวยากรณ์ไทยอยู่แล้ว แต่กลับปรากฏว่าไร้ประโยชน์ เพราะแต่ละฉบับข้อความไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกันเอง ครูภาษาไทยจึงเกิดความสับสนว่าอะไรผิดอะไรถูก

หมอบรัดเลย์มิได้ทำพจนานุกรมฉบับนี้เพียงคนเดียว แต่ได้รับความร่วมมือจาก อาจารย์ทัด ซึ่งน่าจะเป็นครูสอนภาษาไทยของหมอบรัดเลย์เอง นอกจากอาจารย์ทัดแล้วก็ยังมีคนไทยอีกคนหนึ่งคือ นายเมือง ช่วยทำด้วย

โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ได้เริ่มต้นพิมพ์พจนานุกรมฉบับนี้ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๐๔ จนถึง พ.ศ.๒๔๑๖ รวมเวลาทั้งสิ้น ๑๒ ปี ในปีเดียวกันนั้นเองหมอบรัดเลย์ก็ได้สิ้นชีวิตลงเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน Dan F. Bradley บุตรชายของท่านจึงได้ช่วยดำเนินงานต่อ

พจนานุกรมเล่มนี้มีขนาด กว้าง x ยาว = ๙” x ๑๑ ๑/๒” หนา ๘๒๘ หน้า แต่ละหน้ามีศัพท์หลักประมาณ ๓๑-๓๙ คำ การเรียงลำดับศัพท์ใช้เกณฑ์ลำดับตัวอักษรไทย ก-ฮ จากนั้นจึงเป็น ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ ในแต่ละหมวดอักษร เรียงศัพท์ตามลำดับสระและพยัญชนะท้าย (ตัวสะกด) ตามแบบหนังสือ ประถม ก กา

ตัวอย่าง เช่น

ญ่าง เป็นอาการที่ยกท้าวก้าวไปนั้น เหมือนอย่างเด็กทารกพึงสอนญ่าง.

ญ่างเดิร เป็นอาการที่ยกตีนก้าวเดิรไป.

ญ่างตีน คืออาการที่ญ่างท้าวเดิรไป.

ญ่างท้าว คืออาการที่ยกตีนก้าวเดิรไป.

ญ่างเนื้อ เป็นการที่คนเอาเนื้อสัตว์มีกลวงทรายเปนต้นปิ้งไฟให้สุก.

ญ่างปลา เป็นการที่คนเอาปลาวางบนเตาไฟสูงๆ ทำให้สุก.

ญ่างไฟ เป็นการที่คนเอาสิ่งของทั้งปวง มีปลาแนเนื้อเปนต้น ญ่างด้วยไฟให้สุก.

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหมอบรัดเลย์ได้เสียชีวิตลงในระหว่างการจัดพิมพ์ คนอื่นจึงต้องดำเนินการต่อ และได้ใช้เวลาทั้งหมดถึง ๓๕ ปี ผลงานจึงออกมาลักลั่น ไม่ดีเท่าที่ควร

ถึงแม้ว่าศัพท์บางศัพท์ที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับนี้จะได้สูญหายไปจากภาษาไทยแล้ว รวมทั้งตัวสะกดการันต์ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่พจนานุกรมเล่มนี้ก็ทรงคุณค่าในแง่ประวัติของภาษา ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็ยังได้ใช้พจนานุกรมฉบับนี้เป็นแหล่งอ้างอิงด้วย

ผู้สนใจคงจะพอหาหนังสือเล่มนี้ได้ ทั้งนี้เพราะองค์การค้าคุรุสภาได้นำมาจัดพิมพ์ใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ โดยเลียนแบบของเดิมทุกประการ

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน