อาจริยปรัมปรา (๑)           ในทางพระพุทธศาสนา การสืบสายอาจารย์แบ่งออกเป็น ๒ สาย คือ สายพระวินัย กับ สายพระธรรม  การสืบสายอาจารย์คืออะไร พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ (แก้ไขเพิ่มเติม) อธิบายไว้ว่า

           การสืบสายอาจารย์ หรืออาจริยปรัมปรา (Ācariyaparamparā) หมายถึง การสืบสายผู้ทรงจำคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สืบต่อกันมาจากอาจารย์สู่ศิษย์ตามลำดับ  อันเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้สืบต่อมา

           การสืบสายอาจารย์นี้มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าสืบต่อมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลและหลังพุทธกาล  โดยในครั้งพุทธกาล การสืบสายอาจารย์สายพระวินัย นั้น  คัมภีร์สมันตปาสาทิกากล่าวว่า พระอุบาลีเรียนพระวินัยทั้งหมดจากพระพุทธเจ้าแล้วสอนลูกศิษย์ให้รู้และจำต่อมา

           หลังจากครั้งพุทธกาล จนถึงการทำสังคายนาครั้งที่ ๓  พระเถระ (พระผู้ใหญ่ ซึ่งตามพระวินัยกําหนดว่า คือพระที่มีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ พรรษาขึ้นไป) เหล่านี้ได้รับผิดชอบสืบสายกันมาตามลำดับ คือ พระทาสกะเป็นสัทธิวิหาริก (คําเรียกผู้ได้รับการอุปสมบทแล้ว หรือถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์องค์ใดก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น) รูปหนึ่งของพระอุบาลีได้สอนศิษย์สืบต่อมา  พระโสณกะเป็นสัทธิวิหาริกรูปหนึ่งของพระทาสกะได้สอนศิษย์สืบต่อมา  พระสิคควะเป็นสัทธิวิหาริกรูปหนึ่งของพระโสณกะได้สอนศิษย์สืบต่อมา  พระโมคคลีบุตรติสสะซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ และเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นสัทธิวิหาริกของพระสิคควะ  ส่วนพระมหินทะผู้นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในลังกาหลังจากทำสังคายนาครั้งที่ ๓ แล้วก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระโมคคลีบุตรติสสะ  ทั้งหมดคือการสืบสายอาจารย์สายพระวินัยในชมพูทวีป (ดินแดนที่เป็นประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาล และบังกลาเทศในปัจจุบัน).

      กนกวรรณ  ทองตะโก