อาจริยปรัมปรา (๒)

          ดังได้กล่าวไปแล้วว่าการสืบสายอาจารย์ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง การสืบสายผู้ทรงจำคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สืบต่อกันมาจากอาจารย์สู่ศิษย์ตามลำดับ แบ่งออกเป็น ๒ สาย คือ สายพระวินัย กับ สายพระธรรม  ในการสืบสายอาจารย์สายพระวินัยในชมพูทวีปนั้นเริ่มในครั้งพุทธกาล จากพระอุบาลีเรียนพระวินัยทั้งหมดจากพระพุทธเจ้าแล้วสอนลูกศิษย์ให้รู้และจำต่อมา  จนกระทั่งพระมหินทะมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกาและสอนศิษย์คือพระมันตาภัยให้ทรงจำและสอนพระชาวลังกาด้วยกัน  ซึ่งต่อจากพระมหินทะก็มีพระอัฏฏิยะ พระอุตติยะ พระสัมพละ พระภัททนามะ ชาวชมพูทวีปนำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ในลังกา และได้สอนพระวินัยแก่พระชาวลังกาจนกระทั่งมีความสามารถสืบสายแห่งอาจารย์สายพระวินัยสืบต่อกันมาตามลำดับอีกคือ พระอริฏฐะ พระติสสทัตตะ พระกาฬสุมนะ (๑) พระทีฆะ พระทีฆสุมนะ พระกาฬสุมนะ (๒) พระนาคะ พระพุทธรักขิตะ พระติสสะ (๑) พระเทวะ พระสุมนะ (๑) พระจูฬนาคะ พระธัมมปาลิตะ พระเขมะ พระอุปติสสะ พระปุสสเทวะ พระสุมนะ (๒) พระปุปผะ (๑) พระมหาสีวะ พระอุบาลี พระมหานาคะ พระอภยะ พระติสสะ (๒) พระปุปผะ (๒) พระจูฬาภยะ  พระติสสะ (๒) พระจูฬเทวะ พระสีวะ

          ส่วนการสืบสายอาจารย์สายพระธรรม ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกามีกล่าวไว้เล็กน้อย คือ พระอานนท์เรียนพระธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วสอนศิษย์สืบมา  มีปรากฏชื่อสัทธิวิหาริก (คําเรียกผู้ได้รับการอุปสมบทแล้ว หรือถ้าอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์องค์ใดก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น) ของท่าน คือ พระยสะ พระสาณสัมภูตะ พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระเรวตะ และพระขุชชโสภิตะ  ทั้งหมดนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการทำสังคายนาครั้งที่ ๒  นอกจากนี้ ในคัมภีร์สมันตปาสาทิกายังกล่าวถึงสัทธิวิหาริกของพระอนุรุทธะ ๒ รูป คือ พระสุมนะ และพระวาสภคามี.

กนกวรรณ  ทองตะโก