อำแดง นาง นางสาว

          คำว่า อำแดง ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง คำนำหน้าชื่อหญิงสามัญ  การใช้คำว่า อำแดง นั้น นางสาวศิรินันท์ บุญศิริ กรรมการศึกษาและพัฒนาความรู้ประวัติศาสตร์ไทย ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า อำแดง ใช้นำหน้าชื่อหญิงสามัญที่มีสามีแล้วเท่านั้น ไม่ได้ใช้กับทุกคน  หลักฐานการใช้คำว่า อำแดง ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชนิยมเกี่ยวกับการใช้คำ อำแดง ประกาศไว้ใน “ประกาศว่าด้วยลักษณะที่จะใช้ถ้อยคำในฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย” ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๙๗ และใน “ประกาศพระราชบัญญัติให้ใช้คำนำหน้าชื่อชนต่าง ๆ” ลงวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๔ กำหนดให้ใช้คำว่า อำแดง เรียกหญิงที่ไม่มีบรรดาศักดิ์ซึ่งมีสามีแล้ว หรือหญิงที่เป็นหม้าย รวมไปถึงหญิงที่เป็นภรรยาของข้าราชการชั้นประทวนซึ่งมีศักดินาต่ำกว่า ๔๐๐  ส่วนหญิงที่ยังไม่มีสามี ให้เรียกชื่อตัวโดยไม่มีคำนำหน้า

          จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงมีการประกาศ “พระราชกฤษฎีกาให้ใช้คำนำนามสัตรี” ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ กำหนดให้หญิงที่มีสามีแล้วใช้คำนำหน้าชื่อว่า นาง ส่วนหญิงที่ยังไม่มีสามีให้ใช้คำนำหน้าชื่อว่า นางสาว จึงไม่มีการใช้คำว่า อำแดง นำหน้าชื่ออีกต่อไป

          ปัจจุบัน มีพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดว่า หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หรือหญิงที่การสมรสสิ้นสุดลง จะใช้คำนำหน้านามว่า นาง หรือ นางสาว ได้ตามความสมัครใจ

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน