อินทนิล เสลา ตะแบก

          เมื่อลมร้อนเริ่มโชยจะสังเกตเห็นว่าต้นไม้บางชนิดที่ปลูกตามถนนหนทาง สวนสาธารณะ สถานที่ทำการบางแห่งในเมืองผลิใบพร้อมกับช่อดอกขนาดใหญ่ สีม่วงสด ม่วงอมชมพู หรือชมพู เด่นสะดุดตา ต้นไม้เหล่านี้ มีทั้ง ตะแบก เสลา อินทนิลน้ำ และอินทนิลบก ซึ่งดูผิวเผินมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จึงทำให้เกิดความสับสนว่า ต้นใดเป็น ตะแบก เสลา อินทนิล

          พรรณไม้จำพวก ตะแบก เสลา อินทนิล เป็นไม้ในสกุลเดียวกัน คือ Lagerstroemia  วงศ์ Lythraceae ชนิดที่เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย นำมาปลูกประดับเรียงลำดับตามความนิยม ได้แก่ อินทนิลน้ำ เสลา ตะแบก และอินทนิลบก ตามถนนในกรุงเทพมหานคร มักจะปรากฏพรรณไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งดังกล่าวปลูกแทรกอยู่เสมอ เช่น สองฟากถนนเพชรบุรี มีอินทนิลน้ำ เสลา และตะแบก ปลูกกันประปรายในเมืองต่าง ๆ ทางภาคเหนือและภาคอีสาน พรรณไม้ทั้ง ๔ ชนิด มีลักษณะเด่นแตกต่างกัน พอสังเกตได้ดังนี้

          อินทนิลน้ำ  [Lagerstroemia speciosa  (Linn.) Pers.] เปลือกลำต้นสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบ อาจจะตกสะเก็ดเป็นแผ่นบาง ๆ บ้างเล็กน้อย ใบเกลี้ยงปลายใบเรียวแหลม ผลิใบอ่อนเต็มต้นพร้อมช่อดอก สังเกตได้ง่ายที่ตำแหน่งช่อดอกเป็นพุ่มทรงเจดีย์ชูตั้งขึ้นเหนือเรือนยอดโดยรอบขนาดของดอกบานกว้าง ๕-๘ เซนติเมตร ออกชิดกันเป็นกลุ่ม สีม่วงสด ม่วงอมชมพูจนถึงชมพู และสีจะซีดจางลงเล็กน้อยเมื่อดอกโรย ผลมีผิวขรุขระ สีคล้ายเนื้อไม้ ออกดอกช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม)

          อินทนิลบก  (L. macrocarpa  Wall. ex Kurz) ลักษณะคล้ายอินทนิลน้ำมาก แต่ใบ ดอก และผลมีขนาดใหญ่กว่า ใบป้อมและกว้างกว่าใบอินทนิลน้ำ ปลายใบมนกว้างหรือแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกไม่ชูตั้งขึ้นเหนือเรือนยอด ขนาดของดอกบานกว้าง ๑๐-๑๓ เซนติเมตร แต่ละดอกจะชิดกันเป็นกลุ่ม ดอกสีม่วงอมชมพู และสีจะจางซีดลงเป็นสีขาวอมชมพู ออกดอกช่วงฤดูร้อน มีชื่ออื่น ๆ ว่า กาเสลา จ้อล่อ จะล่อ

          เสลา (L. loudonii  Teysm. et Binn.) เปลือกลำต้นสีน้ำตาลดำหรือสีคล้ำ แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว ปลายกิ่งย้อยลู่ลงสู่พื้น ใบมีขนปกคลุมประปราย ช่อดอกออกตามกิ่ง ตามง่ามใบและปลายกิ่ง แต่ช่อไม่ชูตั้งขึ้นเมื่อดอกในช่อบานจะชิดกัน ดอกสีชมพูอมม่วง ออกดอกช่วงฤดูร้อน ผลผิวเรียบเป็นมันสีน้ำตาลไหม้ มีชื่ออื่น ๆ ว่า เสลาใบใหญ่ อินทรชิต

          ตะแบก (L. floribunda  Jack) เปลือกลำต้นสีเทา เรียบ ลื่น เป็นมัน มักมีรอยแผลเป็นหลุมตื้น คล้ายเปลือกต้นฝรั่ง ใบอ่อนมีขนปกคลุม ใบแก่เกลี้ยง ช่อดอกออกตามปลายกิ่งโค้งชูเหนือเรือนยอด มีดอกจำนวนมาก ดอกขนาดเล็ก บานเต็มที่กว้าง ๔-๕ เซนติเมตร ดอกในช่อเรียงกันห่าง ๆ ทำให้ช่อดอกโปร่ง ดอกสีม่วงอมชมพู และสีจะจางซีดลงเกือบเป็นสีขาวเมื่อดอกโรย ผลผิวเรียบเป็นมันสีน้ำตาลเข้ม มีขนปกคลุมบาง ๆ ที่ส่วนปลาย ออกดอกในช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-กันยายน)

ผู้เขียน : ดร.ธวัชชัย  สันติสุข ราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  สาขาวิชาพฤษศาสตร์
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๓๒