อุบัติเหตุการจราจร

          ในช่วงเทศกาลไม่ว่าจะเป็นปีใหม่หรือสงกรานต์ทุกปีจะมีคนที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุจำนวนเกือบพันคนและจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหลายหมื่นคน เช่น ในปีที่ผ่านมานี้ มีคนตาย ๘๕๗ คน และบาดเจ็บ ๔๒๑๗๙ คน สถิตินี้มีแนวโน้มจะเพิ่มทุกปี แต่การรู้เพียงตัวเลขแค่นี้ไม่มีทางที่จะช่วยให้กรมตำรวจจราจรลดจำนวนอุบัติเหตุได้ เพราะเราไม่รู้ชัดเจนว่า สาเหตุการตายเกิดจากผู้ตายขาดความรู้เรื่องกฎจราจรกี่ราย คนขับรถมีใบขับขี่ที่ถูกต้องตามตัวบทกฎหมายกี่ราย ถนนไม่ดีกี่ราย สัญญาณจราจรไม่ดีหรือบกพร่องกี่ราย คนขับรถขับด้วยความเร็วสูงกี่ราย คนที่ตายไม่สวมหมวกกันน็อกกี่ราย คนขับรถเมาสุราหรือยาบ้ากี่ราย และคนที่ตายมากที่สุดมีอายุประมาณช่วงไหน เป็นต้น ซึ่งถ้าเรารู้ชัดเจนเราก็สามารถแก้ไขได้ถูกจุด

           ตามปรกติ ในการลดอุบัติเหตุการใช้ถนนนั้น เราทุกคนรู้ว่าปัจจัยที่ทำให้การจราจรปลอดภัยมี ๓ ประการคือ

           ๑. พฤติกรรมของคนขับรถ เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย การเมาสุรา ความง่วง และนิสัยชอบขับรถเร็ว

           ๒. ความสมบูรณ์และปลอดภัยของรถ ของเครื่องยนต์ ล้อ ถนน รวมทั้งไฟจราจร

           ๓. ความฉับพลันทันทีของแพทย์ที่จะช่วยคนที่ประสบอุบัติเหตุได้ทัน ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเราเท่านั้นที่ประสบปัญหาอุบัติเหตุจราจร ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหานี้เช่นกัน เพราะสถิติที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า ในแต่ละปีจะมีคนเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุจราจรในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า ๑ ล้านคน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น จำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ประมาณ ๔๑๐๐๐ คน/ปี และในเหตุการณ์ที่มีคนบาดเจ็บ ๔๐ คน จะมีคนเสียชีวิต ๑ คน ซึ่งนับว่าสูงมาก ถ้าเราย้อนกลับไปดูเรื่องนี้ในอดีต เราก็จะพบว่า เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน  โลกไม่มีใครตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์เลย และถ้าจำนวนอุบัติเหตุแบ่งโดยตรงกับจำนวนรถยนต์ที่แล่นบนถนน จำนวนผู้ที่จะเสียชีวิตเพราะรถยนต์ก็จะต้องเพิ่มจากตัวเลขเดิมอีกหลายเท่า

           L. Evans แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ในประเทศอังกฤษ ได้รายงานการศึกษาเรื่องอุบัติเหตุการจราจรทางถนน ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในวารสาร Scientific American ฉบับที่ ๙๐ เมื่อปีกลายนี้ว่า

           ในอดีต ซึ่งเป็นเวลาที่เทคโนโลยีการสร้างรถยังไม่พัฒนานัก ความบกพร่องของเครื่องยนต์หรือล้อรถ เช่น ยางล้อแตก หรือเพลาล้อหักจะเกิดบ่อย และนี่ก็คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ มาบัดนี้เทคโนโลยีการสร้างรถได้รับการพัฒนาดีขึ้นมาก ทำให้ความบกพร่องของรถลดน้อยลง ดังนั้น หนทางเดียวที่จะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุที่จะเกิดจากความบกพร่องของรถคือ ใช้รถที่มีสภาพดี และนำรถไปตรวจสภาพอย่างสม่ำเสมอ

           เทคโนโลยีการสร้างถนนก็มีบทบาทไม่น้อยในการควบคุมอุบัติเหตุ ตามปรกติถนนตามชนบทค่อนข้างแคบ ดังนั้น เวลารถสวนกัน ถ้ารถวิ่งสวนกันด้วยความเร็วคันละ ๕๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะความเร็วสัมพัทธ์ระหว่างรถสูงถึง ๑๐๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น หากรถเสียจังหวะพุ่งชนกันตรง ๆ คนขับทั้งสองคนก็จะตาย  แต่สำหรับถนนในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีทางด่วน มีถนนลอยฟ้า ทำให้รถที่จะวิ่งสวนกันอยู่ห่างกันมาก อุบัติเหตุที่เกิดจากการชนกันตรง ๆ ก็น้อยลง แต่ก็อาจจะเกิดได้เวลารถวิ่งตามกันและใกล้กันด้วยความเร็วที่แตกต่างกันเล็กน้อย

           การศึกษากลศาสตร์ของการชนกัน ทำให้ Evans พบว่า สำหรับรถที่มีขนาดใหญ่และหนัก คนขับจะไม่เป็นอันตรายมาก เช่น เวลารถคันหนึ่งพุ่งชนรถอีกคันหนึ่งที่หนักกว่าประมาณ ๒ เท่า คนขับรถคันที่น้ำหนักเบาจะมีโอกาสเสียชีวิตมากเป็น ๑๒ เท่าของคนขับรถคันที่มีน้ำหนักมากกว่า  และจากกฎความถาวรของโมเมนตัม ถ้ารถคันหนึ่งหนักกว่ารถอีกคันหนึ่งร้อยละ ๕  และรถทั้งสองพุ่งเข้าหากันด้วยความเร็ว ๕๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าให้รถทั้งสองเมื่อชนกันหลอมรวมกัน รถคันที่หนักกว่าจะมีความเร็ว ๑.๒ กิโลเมตร/ชั่วโมง ในทิศทางเดิม แต่รถคันที่เบากว่าจะกลับทิศและพุ่งไปในทิศเดียวกับรถคันที่หนักคือ ด้วยความเร็ว ๑.๒ กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น รถคันหนักจะเปลี่ยนความเร็วไป ๑.๒-๕๐ = ๔๘.๘ กิโลเมตร/ชั่วโมง ในขณะที่รถคันเบาจะเปลี่ยนความเร็วไป ๑.๒-(-๕๐) = ๕๑.๒ กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะโมเมนตัมขึ้นกับความเร็ว ดังนั้น ถ้าความเร็วเปลี่ยนมาก แรงกระทำที่คนขับก็จะมากด้วย และนั่นหมายความว่า โอกาสตายก็มากด้วย ดังนั้น คนขับรถที่หนักกว่ามีโอกาสตายน้อยกว่าคนขับรถที่เบากว่า ถ้ารถทั้งสองชนสวนกัน เมื่อหลักการของวิทยาศาสตร์เป็นเช่นนี้ นั่นก็แสดงว่า ถ้าคุณมีรถที่น้ำหนักเบา หนทางหนึ่งที่จะลดอุบัติเหตุการเสียชีวิตเวลาชนกับรถที่หนักกว่าคือ นำผู้โดยสารมานั่งเพิ่มในรถที่ขับ เพราะน้ำหนักของผู้โดยสาร ๑ คน เป็นประมาณร้อยละ ๕ ของน้ำหนักรถ Evans พบว่า การมีน้ำใจเยี่ยงนี้จะทำให้คนขับมีโอกาสเสียชีวิตน้อยลงร้อยละ ๑๔  และถ้าจำนวนผู้โดยสารยิ่งมาก โอกาสเสียชีวิตก็ยิ่งน้อย

           คงเป็นที่ยอมรับกันว่า พฤติกรรมของคนขับรถยนต์เป็นปัจจัยสำคัญมากในการทำให้เกิดอุบัติเหตุ  สถิติการสำรวจชี้ชัดว่า คนขับรถที่เป็นผู้ชายทำให้เกิดอุบัติเหตุการจราจรมากกว่าผู้หญิง ทั้ง ๆ ที่ผู้ชายมีความรู้เรื่องรถดีกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ มีสาเหตุจากนิสัยที่ชอบขับเร็ว และชอบเสี่ยง เพราะเหตุว่าความเร็วของรถเป็นตัวกำหนดความรุนแรงของการบาดเจ็บของผู้โดยสารเวลาเกิดอุบัติเหตุรถชน ดังนั้น ความเร็วสูงจึงเป็นอันตรายมาก และนักอุบัติเหตุวิทยาก็ได้พบว่า อาการบาดเจ็บเป็นปฏิภาคโดยตรงกับความเร็วยกกำลังสอง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ถ้าความเร็วเพิ่มขึ้น ๒ เท่า อาการบาดเจ็บจะมากขึ้น ๔ เท่า ส่วนโอกาสตายนั้น ขึ้นกับความเร็วยกกำลังสี่  ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ถ้าคุณเร่งรัดให้เร็วขึ้น ๒ เท่า โอกาสตายของคุณจะเพิ่มเป็น ๑๖ เท่า

           การดื่มสุรายาเมาก็มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะร้อยละ ๕๐ ของอุบัติเหตุบนท้องถนนในอเมริกาเกิดจากคนขับดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อครั้งที่สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายให้เด็กที่จะดื่มแอลกอฮอล์ได้ต้องมีอายุอย่างน้อย ๒๑ ปี สถิติคนวัยนี้ที่ตายเพราะอุบัติเหตุจราจรได้ลดลงทันทีถึงร้อยละ ๑๓  ดังนั้น การตรวจสภาพเมาของคนขับรถ ก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถลดสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนได้

           การคาดเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์ หรือการสวมหมวกกันน็อกขณะโดยสารรถจักรยานยนต์ ก็สามารถลดอุบัติเหตุการตายได้ถึงร้อยละ ๔๒  ซึ่งนับว่ามากเช่นกัน การมีรถไฮเทคที่มีอุปกรณ์สำหรับเตือนคนขับว่าจะมีอุบัติเหตุชนกับรถคันอื่นก็ช่วยได้มาก และถ้าคนขับยังไม่เบรกรถที่ทันสมัยก็จะมีอุปกรณ์ช่วยดึงเข็มขัดนิรภัยให้แน่นขึ้นเพื่อเตือนคนขับให้รีบระวังภัยชน เป็นต้น

           ในวารสาร Geriatrics ฉบับเดือนธันวาคม ปีกลายนี้ B.I. Messinger Rapport ได้รายงานการวิเคราะห์อุบัติภัยที่เกิดกับคนขับรถในวัยชราว่า รถคือภัยที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับสามรองจากมะเร็งและหัวใจสำหรับคนอเมริกันที่มีอายุสูงกว่า ๖๕ ปี โดยได้พบว่าอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับรถของคนวัยนี้แตกต่างจากอุบัติเหตุที่เกิดกับคนวัยรุ่น คือผู้สูงอายุมักขับรถช้าและไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุมักเกิดตรงบริเวณทางแยกในเวลากลางวัน และใกล้บ้าน

           ปัญหาหนึ่งที่คนสูงวัยมักประสบเวลาขับรถคือปัญหาด้านสุขภาพ เช่น กระดูกอ่อนแอ ซึ่งมีผลทำให้กะโหลกศีรษะแตกเวลารถชนกัน

           ตามปรกติเวลาคนเราอายุมากขึ้น สายตา การได้ยิน การเคลื่อนไหว และความเร็วในการตอบสนองปฏิกิริยาต่าง ๆ จะลดลง  เพราะเวลาขับรถ ร้อยละ๙๐ ของข้อมูลต่าง ๆ ที่คนขับได้รับมาจากสายตา ดังนั้น การตรวจสอบสายตาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดอุบัติเหตุการจราจรที่จะเกิดกับคนชราได้มาก

           ความเจ็บป่วยและโรคาพาธก็มีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุมาก ในคนขับรถที่สูงอายุ เช่น โรคอัลไซเมอร์ที่ทำให้คนขับหลงทาง หรือโรคหัวใจที่อาจกำเริบขณะคนชรากำลังขับรถ ฯลฯ

           เพราะสภาพร่างกายของคนสูงวัยสร้างปัญหาในการขับรถ ดังนั้น ถ้ายังต้องการขับรถ คนชราต้องตรวจสายตาให้ดี ให้หมอดูแลปัญหาโรคหัวใจหรือโรคไขข้อเสื่อมเพื่อให้ตนมีสมรรถภาพพอสมควรในการขับ และไปตรวจสอบหรือทดสอบความสามารถในการขับขี่อย่างสม่ำเสมอ

           สำหรับคนชราคู่สามี-ภรรยาที่ต้องการเดินทางไกลโดยไม่ต้องอาศัยลูกหลานขับรถให้ ก็อาจจะผลัดกันขับรถ เพื่อช่วยบรรเทาความเครียดในการขับ หรือถ้ามีใครคนหนึ่งคนใดเป็นโรคหัวใจขึ้นมาอย่างกะทันหัน คนที่เหลือก็จะได้ทำหน้าที่ขับต่อไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสวัสดิภาพครับ.

ผู้เขียน : ศ. ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิทยาศาสตร์