อโนมี

อโนมี  หรือ ภาวะไร้บรรทัดฐานทางสังคม  เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า  anomie ซึ่งพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่าหมายถึง   การขาด การล่มสลาย ความสับสน หรือความขัดแย้งของบรรทัดฐาน (norms) ของสังคม มาจากคำนามและคำคุณศัพท์ในภาษากรีก “anomia” และ “anomos” ซึ่งแปลว่า “ปราศจากกฎหมาย” (without law)  คำดังกล่าวถูกนำมาขยายความเพื่อสะท้อนความคิดเกี่ยวกับภาวะความเสื่อมสลายหรือภัยพิบัติต่าง ๆ

ในผลงานของเอมีล เดอร์ไคม์ (Emile Durkheim) นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ใช้คำว่า อโนมี เป็นมโนทัศน์หลักในผลงานที่ชื่อ The Division of Labor in Society และ Suicide   ในผลงานแรกเดอร์ไคม์เสนอว่า อโนมีอุบัติขึ้นมาในระหว่างที่สังคมเปลี่ยนผ่านจากความเป็นปึกแผ่นแบบจักรกล (mechanical solidarity) ซึ่งเป็นรูปแบบบูรณาการทางสังคมที่มีพื้นฐานมาจากความเหมือนกันของส่วนต่างๆ ไปสู่ความเป็นปึกแผ่นแบบอินทรีย์ (organic solidarity)  ซึ่งเป็นรูปแบบบูรณาการที่มีพื้นฐานมาจากความแตกต่าง  แต่ส่วนต่าง ๆ ของสังคมต้องพึ่งพิงกัน  โดยปรกติแล้วการเพิ่มระดับการแบ่งแยกแรงงานจะนำไปสู่บูรณาการทางสังคมที่มีพื้นฐานมาจากความเป็นปึกแผ่นแบบอินทรีย์ แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดำเนินไปเร็วเกินไป จนทำให้มีการแบ่งงานกันทำมากขึ้น จะมีปัญหาว่าการกำกับควบคุมทางศีลธรรมตามไม่ทัน สภาพการณ์เช่นนี้เรียกว่า การแบ่งงานกันทำที่ผิดปรกติหรือมีพยาธิสภาพ  จากความคิดดังกล่าว   เดอร์ไคม์ได้พัฒนาขยายความต่อไปในการวิเคราะห์การฆ่าตัวตายในผลงานเรื่อง Suicide ซึ่งเดอร์ไคม์ถือว่าอโนมีเป็นสาเหตุประการหนึ่งของการฆ่าตัวตายในสังคม  การฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากภาวะอโนมีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในสังคมที่มีรากฐานมาจากความเป็นปึกแผ่นแบบอินทรีย์ ซึ่งจะปรากฏชัดในช่วงเวลาที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ หรือช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว   คนในสังคมจะถูกควบคุมให้อยู่ภายในกรอบบรรทัดฐานของสังคมน้อยลง ทำให้ความต้องการไม่มีขอบเขตจำกัด นำไปสู่การเสียระเบียบ ผู้คนจึงสับสนงุนงงว่าจะดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปอย่างไรและในที่สุดอาจจะฆ่าตัวตายได้  สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับปัญหาของมนุษย์ในสังคมของเดอร์ไคม์ที่มีทัศนะว่าอยู่ที่การได้รับการควบคุมน้อยเกินไป ซึ่งตรงข้ามกับจุดยืนของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx) ที่มองว่าปัญหาพื้นฐานของมนุษย์ในสังคมคือ การถูกควบคุมมากเกินไป.

 จินดารัตน์  โพธิ์นอก