อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ฉบับใหม่

ในระหว่างที่ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ยังมิได้วางตลาดนี้ เราก็มีหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งออกมาใช้อ้างอิงได้แล้ว นั่นก็คือ อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แก้ไขปรับปรุงตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒

สำหรับหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มนี้น่าจะเป็นที่รู้จักกันไปทั่วแล้ว เพราะเคยพิมพ์ซ้ำมาแล้วถึง ๑๕ ครั้ง รวมจำนวนหนังสือถึง ๑๑๒๐๐๐๐ เล่ม ที่ออกมาในครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑๖ ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยปรับแก้ไขคำอ่านให้สอดคล้องกับคำอ่านตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒

นอกจากนี้ ก็ยังปรับปรุงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขป้ายทะเบียนรถยนต์ ตามที่หน่วยงานนั้น ๆ ได้แก้ไขใหม่

และเพิ่มเรื่องหมายเลขทางหลวงและวิธีอ่านไว้ด้วย



ขอยกตัวอย่าง การเขียนและการอ่านตัวเลขบอกเวลาที่เคยมีผู้ถามกันมาอยู่เสมอว่าจะใช้เครื่องหมายอะไรคั่น คราวนี้มีคำตอบให้แน่ชัดแล้วว่า จะใช้มหัพภาค (.) หรือ ทวิภาค (:) ก็ได้ เช่น ๐๕.๐๐ น. หรือ ๐๕:๐๐ น. อ่านว่า ห้า-นา-ลิ-กา

สำหรับหมายเลขโทรศัพท์ที่เมื่อก่อนนี้กำหนดว่า เลข ๒ ให้อ่านว่า “โท” เพราะมีเสียงใกล้เคียงกับ ๓ อาจจะทำให้สับสนได้นั้น ตอนนี้ก็บอกว่า ไม่เป็นไรแล้ว จะอ่านว่า “โท” หรือ “สอง” ก็ได้ เพราะปัจจุบันระบบโทรศัพท์พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาก เสียงอ่านเลข “๒” กับ เลข “๓” ไม่สับสนกันแล้ว

ส่วนหมายเลขโทรศัพท์ที่ปัจจุบันมีเลขเติมข้างหน้าอีก ๒ ตัว เช่น ๐๒ สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น ก็กำหนดให้เขียน ดังนี้ คือ ๐ ๒๕๓๑ ๓๒๓๔ นั่นคือ เริ่มต้นด้วย ๐ เว้นวรรค ตามด้วยเลข ๔ ตัว เว้นวรรค แล้วตามมาด้วยเลขอีก ๔ ตัว

ไม่ใช่ ๐๒ แล้วตามด้วยเลข ๓ ตัว เว้นวรรค แล้วตามด้วยเลขอีก ๔ ตัว อย่างที่เราเคยทำกัน

ส่วนเลขแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั้น แต่เดิมมีเลขนำแล้วตามด้วยพยัญชนะ จากนั้นจึงตามมาด้วยเลขอีก ๔ ตัว แต่เดี๋ยวนี้เรามีพยัญชนะสองตัวเรียงตามกันมาก่อน แล้วจึงจะตามมาด้วยตัวเลขอีก ๔ ตัว หลักเกณฑ์การอ่านก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือ อ่านเรียงตัว เช่น

๕ช-๒๔๓๗ กรุงเทพมหานคร อ่านว่า

ห้า-ชอ-ช้าง สอง-สี่-สาม-เจ็ด กรุง-เทบ-มะ-หา-นะ-คอน

ภบ ๔๑๐๗ กรุงเทพมหานคร อ่านว่า

พอ-สำเภา-บอ-ใบ-ไม้ กรุง-เทบ-มะ-หา-นะ-คอน

ไม่ต้องอ่านแบบสระโอะลดรูปเป็น “พบ”



เรื่องสุดท้ายที่เป็นหัวใจของหนังสือเล่มเล็กเล่มนี้ก็คือ การอ่านและการเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเรื่องการอ่าน ซึ่งมีให้ทั้ง ๒ แบบ เช่น

สรรพสามิต อ่านว่า สับ-พะ-สา-มิต หรือ สัน-พะ-สา-มิต ก็ได้

ความจริงการอ่านได้สองแบบสำหรับคำนี้ปรากฏอยู่ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ อยู่แล้ว เพียงแต่มิได้อยู่ในหนังสือ อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ ถึง ๑๕ เท่านั้น

ฉะนั้น ก่อนที่จะตำหนิว่าใครอ่านผิด ก็ควรจะตรวจสอบกับหนังสือเล่มนี้ก่อน ส่วนคำไหนที่เราเห็นว่า น่าจะอ่านได้สองอย่าง ก็สามารถรวบรวมคำประกอบเหตุผล ส่งไปที่ราชบัณฑิตยสถาน เพื่อให้พิจารณาเพิ่มเติมได้ ตัวอย่าง เช่น คำว่า “ภรรยา” กำหนดให้อ่านได้ ๒ อย่าง คือ พัน-ยา หรือ พัน-ระ-ยา แต่คำว่า “จรรยา” กลับกำหนดให้อ่านได้อย่างเดียวคือ จัน-ยา อย่างนี้คนที่อ่านคำนี้ว่า จัน-ระ-ยา ก็อาจจะอ้างเหตุผลได้ว่า สองคำนี้เขียนในทำนองเดียวกัน แต่ทำไมจึงอ่านได้ไม่เท่าเทียมกัน

ทั้งนี้เพราะภาษาเป็นของผู้ใช้ (ที่มีเหตุผล) นั่นเอง

ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน