อ่านแบบไหน(ดี) ๑

          เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ กระทรวงศึกษาธิการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องการส่งเสริมการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบดังนี้  ๑. กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ  ๒. กำหนดให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน  ๓. กำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๒–๒๕๖๑ เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน และ  ๔. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นกลไกขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านให้เกิดเป็นรูปธรรม

          พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ อักษร M-Z ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (กำลังจัดพิมพ์เผยแพร่) ซึ่งมี ศาสตราจารย์กิตติคุณสุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิต เป็นประธานในการจัดทำ ได้รวบรวมศัพท์ภาษาต่างประเทศเกี่ยวกับการอ่านในความหมายทางการศึกษาไว้ด้วย ศัพท์ดังกล่าวมีศัพท์บัญญัติภาษาไทยและคำอธิบายประกอบ เพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจความหมายของศัพท์ได้กระจ่างยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าเป็นการช่วยส่งเสริมวาระแห่งชาติเรื่องการอ่านได้อีกทางหนึ่ง

          ตัวอย่างการอ่านซึ่งมีหลายแบบ เช่น การอ่านคร่าว ๆ ตรงกับภาษาอังฤษว่า skimming  หมายถึงกระบวนการอ่านเร็ว ที่ผู้อ่านพยายามเข้าใจความหมายทั่วไปโดยไม่สนใจรายละเอียด มุ่งเจาะเฉพาะหัวข้อที่อยากรู้ ไม่ใช่เรื่องทั้งหมด ใช้ความเร็วประมาณ ๗๐๐ คำ หรือมากกว่าต่อนาทีเมื่อเทียบกับการอ่านเพื่อความเข้าใจตามปรกติที่มีความเร็ว ๒๐๐–๒๓๐ คำต่อนาที เป็นกระบวนการที่มักปรากฏกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ที่รู้กันทั่วไปว่าประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) สามารถอ่านและจดจำถ้อยคำได้เป็น ๑๐๐๐ คำต่อนาที

          การอ่านปากเปล่า หรือ การอ่านออกเสียง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า oral reading หมายถึง การอ่านเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาสาระเพื่อให้ผู้อื่นได้ยิน หรือเพื่อเพิ่มสมาธิของตน ประเมินโดยการออกเสียงชัดเจน ความถูกต้องของจังหวะ อักขรวิธี การเว้นวรรคตอน ตลอดจนการอ่านทำนองเสนาะ

   แสงจันทร์  แสนสุภา