เกอิชา

          ช่วงนี้กระแสละครเวทีเรื่อง “โจโจ้ซัง” กำลังโด่งดัง เนื้อเรื่องของละครเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องราวของความรักระหว่างทหารหนุ่มกับสาวเกอิชา สิ่งที่น่าสนใจนอกจากเรื่องราวของโศกนาฏกรรมความรักของคนทั้งคู่แล้ว เรื่องของอาชีพเกอิชาซึ่งเป็นอาชีพของนางเอกในเรื่องก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จากสารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ ภูมิภาคเอเชีย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้เล่าเรื่องราวของอาชีพเกอิชาไว้ว่า 

          เกอิชา (geisha) หรืออาจเรียกว่า เกงิ (geigi) คือสตรีที่ให้บริการลูกค้าในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ด้วยการสร้างความบันเทิงตามแบบจารีตของญี่ปุ่น  เกอิชาเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ  ในระยะแรกเกอิชานั้นเป็นเพศชาย ต่อมา สตรีได้เข้ามาทำอาชีพดังกล่างและได้รับความนิยมจากลูกค้า จนกลายเป็นอาชีพของสตรี เกอิชามีบรรพบุรุษสืบเนื่องมาจากนางรำในราชสำนักตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ บางครั้งนางรำพวกนี้จะเป็นภรรยาลับของข้าราชสำนักหรือของนักรบด้วย ตั้งแต่ทศวรรษ ๑๗๐๐ เกอิชาจะอยู่ในสถานบริการทางเพศที่ถูกกฎหมาย และยังมีเกอิชาบางพวกที่รวมตัวกันเป็นชุมชนอยู่ในเมืองเรียกว่า ฮะนะมะชิ (hanamachi) ซึ่งกลายเป็นสถานบันเทิงที่เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของชาวเมือง  การเป็นเกอิชาเป็นได้ตลอดชีวิตแต่ต้องมีคุณสมบัติทางด้านการแสดงศิลปะประเภทต่าง ๆ รวมทั้งความสามารถในการเป็นเพื่อนคุยกับแขกได้  ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกอิชาแต่ละคนจำเป็นต้องมีผู้อุปถัมภ์  (ในปัจจุบันเกอิชาอาจดำรงชีพอยู่ได้จากค่าจ้างและเงินพิเศษ อาจมีผู้อุปถัมภ์หรือไม่ก็ได้) เกอิชาจะมีทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำแต่ทุกคนต้องเรียนการร่ายรำแบบโบราณ การร้องเพลง และศิลปะอื่น ๆ ตามจารีตของญี่ปุ่น และจะต้องผ่านการสอบซึ่งจัดโดยสำนักงานจดทะเบียนเกอิชาประจำท้องถิ่น  เกอิชาที่มีชื่อเสียงจะมีรายได้จำนวนมาก ต่อมา จำนวนเกอิชาค่อย ๆ ลดลง สาเหตุสำคัญมาจากสงครามและมีพนักงานต้อนรับในบาร์หรือไนต์คลับแบบตะวันตกมากขึ้น

          แม้ว่าในปัจจุบันเกอิชาจะได้รับความนิยมลดลง แต่กระนั้นก็ยังมีสตรีชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งรักที่จะยึดอาชีพเกอิชาเนื่องจากมีความภูมิใจที่จะเป็นผู้สืบทอดศิลปะและวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของญี่ปุ่น  แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากเท่าในสมัยก่อนก็ตาม

          อิสริยา  เลาหตีรานนท์