เกาะรัตนโกสินทร์

          เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นคำเรียกพื้นที่ของกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำล้อมรอบ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างให้ความสนใจ  พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ของนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่โดยราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายลักษณะความสำคัญของเกาะรัตนโกสินทร์ไว้ว่า 

          เกาะรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ได้แก่บริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง  เป็นบริเวณที่มีน้ำล้อมรอบ กล่าวคือทางด้านตะวันออก   จดคลองคูเมืองเดิม เรียกว่า คลองหลอด  เริ่มตั้งแต่ปากคลองตลาดขึ้นไปทางทิศเหนือไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทางด้านทิศใต้ และทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีลักษณะเป็นเกาะ เรียกว่า เกาะรัตนโกสินทร์

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณโดยรอบมีการเติบโตอย่างมาก  จนใน พ.ศ. ๒๕๒๐ ทางการจึงได้กำหนดชื่อ เกาะรัตนโกสินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณดังกล่าว  ต่อมา ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เสนอมติคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์  ต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องทบทวนนโยบายการใช้ที่ดินบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในอันมีผลต่อมาตรการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้างและโบราณสถานในบริเวณดังกล่าวซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์จึงเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และไม่อนุญาตให้สร้างสิ่งก่อสร้างอาคารสูงในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์  ต่อมา กรุงเทพมหานครจึงได้ออกข้อบัญญัติเพื่อควบคุมความสูงของอาคารสร้างใหม่ โดยห้ามสร้างอาคารสูงเกิน ๑๖ เมตรเฉพาะพื้นที่ภายในคูเมืองเดิมและห้ามก่อสร้างอาคารสูง ๒๐ เมตร บริเวณถัดออกมาจากคลองคูเมืองเดิมจนถึงคลองโอ่งอ่างหรือคลองบางลำพู เราจึงยังได้เห็นบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าวสวยงามไม่มีสิ่งบดบังจนถึงปัจจุบัน.

        อิสริยา  เลาหตีรานนท์