เขามอ

          ใครที่ได้ไปเยือนวัดเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือที่รู้จักกันในชื่อ วัดโพธิ์ คงจะเคยเห็น “เขามอ” ที่มีความสวยงามประดับอยู่บริเวณภายในวัด  ท่านผู้อ่านหลายคนคงสนใจอยากรู้เรื่องราวของเขามอบ้างแล้วนะคะ  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๓ ได้อธิบายถึง เขามอ ไว้ว่า

          แต่ก่อนนักเล่นก่อเขามอเรียกภูเขาจำลองที่ก่อเลียนแบบภูเขาจริงนี้ว่า “เขามอ”  คำว่า “มอ” มาจากคำว่า “ถมอ” ในภาษาเขมร  ซึ่งแปลว่า ก้อนหิน  พอนานไปจึงเหลือแต่ “มอ” ต่อท้ายคำว่า “เขา” เป็น “เขามอ”  เขามอหรือภูเขาจำลองทำจากหินก้อนเล็กก้อนน้อยที่เก็บมาจากทะเล  ที่ใกล้ภูเขา หรืออาจสกัดหรือต่อยมาจากหินก้อนเขื่อง ๆ แล้วนำหินแต่ละก้อนมาก่อให้ติดเข้าด้วยกันจนเป็นภูเขาจำลองที่มีรูปทรงเลียนแบบภูเขาจริง  อาจจัดให้มียอดเขาสูงลดหลั่นลำดับกันเป็นซุ้มคูหา  ปากถ้ำมีหินย้อยและห้วงน้ำอยู่บ้าง นับได้ว่าเป็นเครื่องตกแต่งประดับเหย้าเรือนคู่กันมากับไม้ดัดที่นิยมกันมากในหมู่คนไทยสมัยก่อน

          ความนิยมในการก่อเขามอขึ้นเป็นเครื่องชมเล่นสำหรับประดับตกแต่งเหย้าเรือนนั้น ยังไม่อาจสืบค้นหลักฐานมาแสดงได้ชัดว่ามีมาแต่สมัยใดแน่  หากแต่หลักฐานที่เหลือไว้ให้ทราบได้บ้างเป็นช่วงเวลาสมัยอยุธยาตอนปลาย  ลำดับแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา   ด้วยในรัชกาลนี้มีกวีนิพนธ์ของพระศรีมโหสถซึ่งได้รจนาโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้เรื่องหนึ่ง ในบทกวีนี้มีความพรรณนาว่าด้วยการก่อเขามอขึ้นไว้  ความนิยมเล่นเขามอเป็นเครื่องตกแต่งบ้านเรือนที่มีในสมัยอยุธยายังมีปรากฏหลักฐาน ทั้งที่เป็นโบราณสถานและเอกสารที่แสดงพระราชนิยมในสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแต่ละพระองค์ ดังมีตัวอย่างบทความปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พรรณนาความไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา  แต่ในปัจจุบันคงหา “เขามอ” ที่ประดับตามบ้านเรือนชมได้ยากเต็มที   แต่หากใครผ่านไปแถววัดโพธิ์ก็สามารถแวะชมเขามอกันได้ค่ะ.

         อิสริยา  เลาหตีรานนท์