เข้าตรีทูต

          ร่างกายคนนั้นเปรียบเหมือนเครื่องจักร เนื่องจากคนเราใช้ร่างกายดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ  ช่วงเวลาที่ใช้พลังงานมากเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ คือช่วงเช้าถึงเย็น  คล้ายเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมที่เริ่มการทำงานในตอนเช้าถึงเย็น  เครื่องจักรที่มีสภาพเป็นของแข็งเมื่อใช้งานไปนานวันยังถึงคราวเสื่อม  ร่างกายของคนก็มีวันเจ็บป่วยและตายเช่นกัน

          ในแต่ละชั่วโมงร่างกายทำงานตลอดเวลา  ใช้พลังงานมากบ้างน้อยบ้างตามกิจกรรมของแต่ละบุคคล บางคนใช้พลังงานมากเกินกว่าพลังของตนที่มี  พักผ่อนไม่เพียงพอ  สภาพจิตใจไม่เป็นสุข สิ่งแวดล้อมไม่เอื้อให้มีความสบายกาย ก็อาจทำให้เจ็บป่วยได้  หากรักษาได้ก็มีชีวิตยืนยาวต่อไป หากรักษาไม่ได้ก็ต้องจาก  บุคคลที่รักไป  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  กล่าวถึงสภาพของผู้ป่วยที่มีอาการหนักจวนเจียนจะตายว่าผู้ป่วยนั้นอยู่ในระยะ “ตรีทูต”  โดยเชื่อว่าเมื่อมีคนใกล้ตายยมบาลจะส่งทูต ๓ ตนจากทั้งหมด ๔ ตนมานำตัวผู้ใกล้ตายไปยังยมโลก  การมาของทูต ๓ ตนบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีอาการหนักจวนตาย หากทูตมาครบ ๔ ตนเมื่อใดเป็นอันว่าถึงแก่การสิ้นชีพ  คำว่า”ตรีทูต”  นี้  มีการใช้เพี้ยนไปบ้าง เช่นคำ  ตรีภูติ  ตรีโทษ    โดยหมอกลางบ้านใช้ว่า ตรีภูติ  มีความเชื่อว่าหากเจตภูตหรือวิญญาณของคนใกล้ตายออกจากตัวไปแล้ว ๓  ดวงจากทั้งหมด ๔ ดวง  จะเรียกระยะนี้ว่าเข้าระยะตรีภูติ  สภาพการณ์นี้บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีอาการหนักจวนตายจำเป็นต้องเฝ้าดูแลไม่ให้คลาดสายตา  ถ้าวิญญาณออกจากตัวครบ ๔ ดวงเมื่อใด เป็นอันว่าถึงแก่การสิ้นชีพ    นอกจากนี้ ยังมีฝ่ายที่ใช้ว่า ตรีโทษ โดยเชื่อว่าเมื่อผู้ป่วยมีอาการหนักจวนตาย ธาตุจะแตกสลาย คุมประสานกันไม่ติด  เป็นตรีโทษหนัก  แม้ว่าการเรียกชื่อรวมทั้งความเชื่อในที่มาของชื่อต่างกัน แต่โดยรวมแล้วหมายถึง อาการใกล้ตายที่ธาตุทั้ง ๔ ธาตุ คือ  ดิน น้ำ ไฟ และลม  ค่อยสูญลงไป.

      ปาริชาติ กิตินันทน์