เงินเฟ้อรุนแรง

          จากบทความครั้งก่อนที่ได้เคยเขียนถึงเงินเฟ้อ-เงินฝืด ไว้  ก็ยังมีที่ต้องเขียนถึงอีกนิดว่า ถ้าเงินเฟ้อมาก ๆ แล้วจะเป็นอย่างไร  หลายคนก็คงจะเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างว่าก็จะเกิด เงินเฟ้อรุนแรง  อย่างไรเล่า แต่เงินเฟ้อรุนแรงจะเป็นเช่นไรนั้น  เรื่องนี้คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ แห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายไว้ดังนี้

          เงินเฟ้อรุนแรง  หรือที่ภาษาอังกฤษใช้แตกต่างกันไปหลายคำว่า  galloping inflation; hyperinflation; runaway inflation  ซึ่งทั้ง ๓ คำนี้  มีศัพท์บัญญัติภาษาไทยคำเดียวกันว่า เงินเฟ้อรุนแรง หมายถึง ภาวการณ์ที่ระดับอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงมาก และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว การเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงดังกล่าวจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในค่าเงินตรา และหันไปใช้การแลกเปลี่ยนโดยตรง (barter) แทนการซื้อขายสินค้าโดยใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ทำให้เงินตราจะไม่มีบทบาทในการซื้อขายสินค้า และประชาชนจะไม่ถือเงินตราเพื่อเป็นเครื่องมือสะสมความมั่งคั่ง เงินเฟ้อรุนแรงอาจมีสาเหตุมาจากความระส่ำระสาย หรือความไม่เชื่อมั่นสถานการณ์ของประเทศ  ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัญหาการเมืองหรือปัญหาเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อรุนแรงมักไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง เพราะรัฐบาลจะมีมาตรการแก้ไข เช่น ใช้นโยบายการเงิน หรือนโยบายการคลัง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ

          จากคำอธิบายก็คงพอจะเข้าใจได้ว่า ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบกับการเกิดเงินเฟ้อรุนแรง หากรัฐบาลมีเสถียรภาพแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดีเอง แต่ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลจะเกิดจากอะไรนั้น คงต้องฝากให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนช่วยกันหาคำตอบ เพื่อให้สยามยังอยู่ยั้งยืนยงต่อไป และก็อย่าลืมช่วยกันอนุรักษ์ภาษาไทยด้วยนะคะ.

      จินดารัตน์  โพธิ์นอก