เจ้าแม่วัดดุสิต

          เจ้าแม่วัดดุสิต ไม่ใช่คนทรงเจ้าเข้าผี หรือผู้มีอิทธิฤทธิ์ใด ๆ แต่เป็นสตรีที่มีความสำคัญผู้หนึ่งในสมัยอยุธยา  ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวไว้ว่า เจ้าแม่วัดดุสิต เป็นสมญานามเรียกพระนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีหน้าที่ถวายพระอภิบาลเมื่อทรงพระเยาว์  เจ้าแม่วัดดุสิตมีนามเดิมว่า บัว มีพระภัสดา (สามี) สืบเชื้อสายมาจากขุนนางมอญที่สวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นตัวประกันที่พม่า และได้ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๑๑๑ ซึ่งได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้วัดขุนแสน 

          เจ้าแม่วัดดุสิตมีบุตร ๒ คน คือ เหล็ก [ต่อมาคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)] และปาน [ต่อมาคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)]  เมื่อบุตรทั้งสองยังเล็ก เจ้าแม่วัดดุสิตได้เข้ารับราชการฝ่ายใน เป็นพระอภิบาล ตำแหน่งพระนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้รับพระราชทานให้มาปลูกเรือนในเขตวัดดุสิตาราม (ปัจจุบันอยู่ในตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)  ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไปจึงเรียกว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” 

          จากการที่เจ้าแม่วัดดุสิตเป็นพระนมนี้เอง บุตรทั้งสองจึงได้เป็นพระสหายสนิทในสมเด็จพระนารายณ์และเป็นที่โปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพระคลังทั้ง ๒ คน  ครั้งหนึ่งหลวงสรศักดิ์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ) ขัดแย้งกับออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวกรีกที่รับราชการจนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ จนถึงกับมีเรื่องชกต่อย ด้วยเหตุออกญาวิไชเยนทร์สึกพระภิกษุและสามเณรออกไปทำราชการเป็นจำนวนมาก  หลวงสรศักดิ์เกรงจะถูกลงพระราชอาญา จึงขอให้เจ้าแม่วัดดุสิตขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็พระราชทานอภัยโทษให้หลวงสรศักดิ์  ภายหลังเจ้าแม่วัดดุสิตได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระเทพามาตย์.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน