เจ กับ มังสวิรัติ ความเหมือนที่แตกต่าง

          ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี จะมีเทศกาลหนึ่งที่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนจะมีส่วนร่วมด้วยบ้างไม่มากก็น้อย นั่นคือ เทศกาลกินเจ หรือที่ชาวจังหวัดภูเก็ตเรียกว่า ประเพณีถือศีลกินผัก ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๑-๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้คำอธิบาย เจ ไว้ว่า หมายถึง อาหารที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ และผักบางชนิด เช่น กระเทียม กุยช่าย ผักชี แจ ก็ว่า.

          ส่วน มังสวิรัติ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้คำอธิบายไว้ว่า หมายถึง การงดเว้นกินเนื้อสัตว์ เรียกอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มีแต่พืชผัก ว่า อาหารมังสวิรัติ.

          หลายคนคงยังสงสัยอยู่ว่า เจ กับ มังสวิรัติ แตกต่างกันอย่างไร ผู้เขียนขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

          ๑. ผู้ที่กินเจสามารถรับประทานผักทุกชนิดได้ ยกเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน ๕ ชนิด ได้แก่ หอม กระเทียม กุยช่าย กระเทียมเล็ก ผักชี ส่วนผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติสามารถรับประทานพืชผักทุกชนิดได้โดยไม่มีข้อห้าม

          ๒. ผู้ที่กินเจไม่สามารถดื่มน้ำนมสดหรือนมข้น ส่วนผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติจะดื่มน้ำนมสดหรือนมข้นได้

          ๓. ผู้ที่กินเจรับประทานไข่ไม่ได้ เพราะถือว่าหากรอให้ครบกำหนดเวลาฟักไข่ย่อมฟักเป็นตัว ดังนั้น การรับประทานไข่จึงเท่ากับเป็นการรับประทานเนื้อสัตว์โดยอ้อม ส่วนผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติสามารถรับประทานไข่ได้ เพราะถือว่าไข่ที่บริโภคกันอยู่ทั่วไปเป็นไข่ที่ไม่มีเชื้อ

          ๔. ผู้ที่กินเจนั้น นอกจากจะต้องไม่รับประทานเนื้อสัตว์ และผักที่มีกลิ่นฉุนบางชนิดแล้ว ยังต้องถือศีลอุโบสถ (ศีล ๘) ควบคู่กันไปด้วย หากไม่ถือศีลอุโบสถก็จะเรียกว่า กินเจ ไม่ได้ เรียกได้เพียงว่า กินมังสวิรัติ หรือ กินผัก เท่านั้น

กนกวรรณ ทองตะโก