เนรคุณ

          หลายวันก่อนได้ยินคำว่า เนรคุณ ในข่าวการเมืองบ่อยครั้ง ผู้เขียนเห็นว่ารูปคำน่าสนใจอีกทั้งความหมายได้อรรถรสอย่างยิ่ง จึงขอนำมากล่าวถึง พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามว่า อกตัญญูไม่รู้คุณ ไม่สํานึกถึงบุญคุณ แผลงมาจาก นิรคุณ ที่แปลว่าไม่มีลักษณะดี ไม่มีคุณ เลว ชั่วร้าย

          หากแยกคำ เนรคุณ จะได้ นิร + คุณ นิร- เป็นคำวิเศษณ์ประกอบหน้าคําอื่น แปลว่า ไม่ ไม่มี ออก เปรียบเช่นเดียวกับลักษณะการใช้ prefix ในภาษาอังกฤษ เช่น in- un-

          มีคำศัพท์ที่ใช้ นิร- ในความหมายว่า ไม่ แต่ไม่จำเป็นต้องมีความหมายในทางลบเสมอไป ที่น่าสนใจมีหลายคำดังนี้  นิรทุกข์ ไม่มีทุกข์  นิรเทศ เนรเทศ ขับไล่ออกจากที่เดิม นิรโทษ ไม่มีโทษ นิรนาม ไม่รู้ว่าชื่ออะไร นิรภัย ไม่มีภัย แคล้วคลาดจากภัยอันตราย นิรมล ไม่มีมลทิน ไม่มัวหมอง ผ่องใส; โดยปริยายหมายความว่า หญิงสวย หญิงงาม นิรมาน ปราศจากการถือรั้น ไม่มีความดื้อดึง ไม่ถือตัว นิรันดร นิรันตร- ตลอดไปไม่เว้นว่าง ติดต่อกันตลอดไป

          นิรันตราย ปราศจากอันตราย นิราพาธ ไม่มีความเจ็บไข้ นิรามัย ไม่มีโรค สบาย เป็นสุข นิรามิษ ไม่มีเหยื่อ ไม่มีเครื่องล่อใจ ไม่รับสินบน; ปราศจากความยินดีอันเป็นเครื่องล่อใจ นิราลัย ไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ห่วงใย นิราศรพ ไม่มีเครื่องหมักหมมในสันดาน หมดมลทิน หมายถึง พระอรหันต์ นิราศรัย ไม่อยู่เป็นที่ ไม่ติดอยู่กับที่ นิรินธน์ ไม่มีเชื้อ (ใช้แก่ไฟ) นิรินธนพินาศ ความหมดสิ้นอย่างไฟขาดเชื้อ คือ ไม่ลุกลามได้อีก นิรุทกะ ไม่มีนํ้า นิโรช ไม่มีรส ไม่อร่อย จืด

          คำว่า เนรคุณ บอกความหมายเดียวกันกับสำนวนไทยอย่าง กินบนเรือน ขี้บนหลังคา จะเลือกใช้อย่างไรขึ้นอยู่กับกลวิธีเพื่อให้เกิดอรรถรสทางภาษาค่ะ.

รัตติกาล  ศรีอำไพ