เบญจกัลยาณี

          เมื่อเอ่ยถึงคำว่า เบญจกัลยาณี ผู้เขียนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะเข้าใจว่าหมายถึง ผู้หญิงที่มีความเพียบพร้อมด้วยรูปร่าง หน้าตา กิริยามารยาท การศึกษา และชาติตระกูล แต่อันที่จริงแล้ว เบญจกัลยาณี มิได้มีความหมายเช่นนั้น  ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้นิยามของคำ เบญจกัลยาณี ไว้ว่า “น. หญิงมีลักษณะงาม ๕ ประการ คือ ๑. ผมงาม ๒. เนื้องาม (คือ เหงือกและริมฝีปากแดงงาม) ๓. ฟันงาม ๔. ผิวงาม ๕. วัยงาม (คือ ดูงามทุกวัย)”  ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้กล่าวถึงลักษณะของเบญจกัลยาณีไว้ โดยอ้างจากอรรถกถาธรรมบท เรื่องนางวิสาขา มหาอุบาสิกา สรุปลักษณะ เบญจกัลยาณี ได้ว่า หมายถึง หญิงที่มีผมงาม คือ มีผมยาว เกล้ารัดไว้ที่ท้ายทอยเบื้องหลัง ดั่งกำหางนกยูง เมื่อปล่อยปลายผมตกไปตามลำตัว ปลายผมจะเป็นวงวกช้อนงอนขึ้นเล็กน้อย  เนื้องาม คือ เนื้อหุ้มฟันที่เราเรียกกันว่าเหงือกนั้น มีสีแดงเหมือนลูกพลับสด เรียบสนิทติดแนบแน่นอยู่กับฟัน  กระดูกงาม กระดูกในที่นี้คือฟันที่ขาวเป็นเงาลึกสม่ำเสมอ เรียบสนิทไม่ชิดไม่ห่าง  ผิวงาม คือ ถ้าคนผิวดำ ผิวก็ดำสนิทเป็นมันเหมือนบัวเขียว ถ้าคนผิวขาว ผิวก็ขาวนวลเหมือนสีกลีบดอกกรรณิการ์  วัยงาม คือ ถึงจะมีลูกตั้ง ๑๐ คน ก็ดูเหมือนมีเพียงคนเดียวเท่านั้น ถึงอายุจะมาก ก็ยังกระชุ่มกระชวยเหมือนคนสาว ๆ  นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงลักษณะของเบญจกัลยาณี โดยอ้างจากอรรถกถา
ชาดก
ไว้ด้วย สรุปได้ว่า เบญจกัลยาณี หมายถึง หญิงที่มีผิวงาม คือ มีผิวกายงามเปล่งปลั่งดั่งผลประยงค์สุกหรือดั่งสีทองคำธรรมชาติ โดยมิต้องใช้เครื่องประเทืองผิว  เนื้องาม  คือ มีฝ่ามือ ฝ่าเท้า และริมฝีปากเป็นสีแดงดุจทาด้วยน้ำครั่ง หรือดั่งสีแก้วประพาฬแดง หรือดั่งผ้ากัมพลแดง  เล็บงาม คือ เล็บมือและเล็บเท้าทั้ง ๒๐ นิ้วที่ยังไม่พ้นเนื้อออกมา มีสีแดงดุจน้ำครั่ง ที่พ้นเนื้อออกมาแล้ว มีสีขาวเหมือนสีสังข์และสีนมสด  ฟันงาม คือ ฟันทั้ง ๓๒ ซี่ขาวสะอาดและเรียบชิดสนิทเป็นอันดี ดุจดังแก้วที่นายช่างได้เจียระไนแล้วจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ  วัยงาม คือ แม้จะมีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมีผิวพรรณผุดผ่อง ไม่มีริ้วรอย มีผมดำสนิท เหมือนกับหญิงสาวแรกรุ่น.

พรทิพย์  เดชทิพย์ประภาพ