เป็ดไซ้  ไก่ตอด …

          การปลูกสร้างบ้านเรือนไทยภาคกลางชนิดเรือนเครื่องสับหรือเรือนที่ใช้ไม้จริง เช่น ไม้สัก ไม้เต็ง  ต้องคำนึงถึงเสาเรือนซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของเรือน  ฉะนั้นการหาไม้มาทำเป็นเสาเรือนจึงต้องมีความพิถีพิถันในการเลือก โดยช่างจะมีข้อกำหนดในการคัดเลือกเสาเรือนที่มักเรียกเป็นคำคล้องจองกันไว้ว่า “เป็ดไซ้ ไก่ตอด สลักลอด หมูสี” คือต้องคัดเลือกเสาที่ไม่มีตา รู หรือรอยแตก ตรงโคนเสาในระยะที่พ้นจากดินขึ้นมาประมาณ ๑ ศอก ทำเป็นเสาเรือน ข้อกำหนดของคำเรียกต่าง ๆ มีดังนี้ เป็ดไซ้ คือ ช่วงล่างสุดของเสาที่อยู่ติดพื้นดินซึ่งเป็นระยะที่เป็ดจะไซ้หาอาหาร ช่วงที่สูงขึ้นมาอีกเป็นระยะที่ไก่จิกหาแมลงจึงเรียกว่า ไก่ตอด และช่วงที่สูงกว่าระยะไก่ตอดขึ้นไปประมาณ ๑ ศอก เป็นระยะที่หมูจะใช้สีข้างสีหรือถูกับเสาเมื่อมีอาการคันจึงเรียกว่า หมูสี ระยะดังกล่าวของเสาจะมีการผุกร่อนได้เร็วกว่าส่วนอื่น เพราะพื้นดินมีความชื้น เปียกแฉะ และแห้ง สลับกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ช่วงเสาในระยะประมาณ ๑ ศอกนี้อาจผุกร่อนจากการกระทำของสัตว์ทั้ง ๓ ชนิดนี้ด้วยหรือไม่ก็ได้  ส่วนสลักลอดคือตำแหน่งที่เจาะใส่ลูกสลักเพื่อยึดให้ไม้ติดกัน  สลักเป็นไม้ที่เหลาให้กลมมีส่วนโคนใหญ่ปลายเรียว ใช้ตอกอัดในการต่อไม้และเข้าไม้ เช่น ใช้ในการตอกอัดยึดฝาเรือนแต่ละกระแบะให้อยู่ในรูปทรงตามต้องการ  หากเสาในระยะดังกล่าวมีรอยแตกหรือเป็นโพรง เมื่อเจาะแล้วจะทำให้รูที่เจาะไม่พอดีกับขนาดของสลัก การยึดส่วนประกอบต่าง ๆ จะไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักได้  หรือถ้าเสามีตาไม้ตรงตำแหน่งที่ต้องการเจาะก็จะทำให้การเจาะเสาให้เป็นรูทะลุได้ยาก   แต่ถ้าโคนเสาต้นเดิมผุกร่อนไม่มั่นคงจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ก็ต้องแก้ไขโดยหา “เสาหมอ” ซึ่งเป็นเสาขนาดสั้นคล้ายตอม่อมาตั้งขนาบไว้ด้านในของเสาที่ผุกร่อนเพื่อช่วยรับน้ำหนักแทนเสาเดิม และเพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงแข็งแรงของเรือนด้วย เสาที่นำมาเสริมนี้เปรียบเสมือนมารักษาเสาและเรือน จึงเรียกเสานี้ว่า “เสาหมอ”

  พัชนะ  บุญประดิษฐ์