เฝือก

          เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับกระดูกและข้อ เฝือกจัดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญซึ่งใช้ดามกระดูกและข้อเพื่อการรักษา เฝือกนั้นมีหลายชนิดตามแต่วัสดุที่ใช้ สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๒๐ อธิบายไว้โดยสรุปได้ดังนี้

          เฝือกปูน ทำด้วยปูนปลาสเตอร์ โดยนำยิปซัมมาบดเป็นผงละเอียด ใช้ความร้อนสกัดเอาน้ำออกทำให้ยิปซัมเปลี่ยนรูป แล้วนำไปเคลือบบนผ้าโปร่งผสมกับสารเซลลูโลสและน้ำยาเคมีบางอย่าง เพื่อให้มีคุณลักษณะเหนียวสามารถเกาะยึดกับโครงผ้าโปร่งได้ดี ในระยะแรกของการทำเฝือกนั้นเป็นการนำแคลเซียมออกไซด์มาผสมกับไข่ขาว จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๓๔๑ มีผู้ใช้ปูนปลาสเตอร์หล่อหุ้มเท้าเพื่อเป็นเฝือกรักษาโรคเท้าปุก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๙๕ Antonius Mathijsen ศัลยแพทย์ชาวเนเธอร์แลนด์ ได้คิดทำเฝือกปูนขึ้นโดยนำเอาผงปูนปลาสเตอร์โรยระหว่างผ้าโปร่ง ๒ ชั้น ตัดเป็นรูปตามต้องการแล้วนำไปทาบกับส่วนที่จะเข้าเฝือก ทำให้เปียกโดยใช้น้ำพรม นับว่าเป็นการเริ่มใช้เฝือกปูนเป็นครั้งแรก

          ในประเทศไทย สันนิษฐานว่ามีผู้นำเฝือกปูนเข้ามาใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่มีบันทึกเป็นหลักฐานว่า ศาสนาจารย์แม็กกิลวารี (Macgilvary) ได้ใช้เฝือกปูนที่จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างการเผยแพร่ศาสนาคริสต์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐

          เฝือกโลหะทำด้วยโลหะเบา เช่น อะลูมิเนียม ด้านหนึ่งอาจบุรองด้วยสักหลาดหรือยางฟองน้ำ มีทั้งที่เป็นเฝือกสำเร็จรูปที่ใส่และถอดได้ หรือเป็นเฝือกขนาดเล็กที่ใช้เพื่อดัดหรือดามกระดูกนิ้วมือ เฝือกไม้ ทำด้วยไม้เป็นซี่มาถักด้วยเชือกให้ต่อกันมีลักษณะคล้ายมู่ลี่หรือลูกระนาด แต่มีที่ใช้จำกัดเพราะดามเข้ากับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่หักเลี้ยวมุมไม่ได้ เฝือกผ้าใบ ทำด้วยผ้าใบแข็ง ถอดและใส่ได้ เพื่อทำให้ส่วนที่บาดเจ็บอยู่ในท่าที่ต้องการได้ เช่น เฝือกผ้าใบที่ใช้กับข้อมือ ถ้าเป็นเฝือกผ้าใบขนาดใหญ่ใส่กระชับเอวหรือสันหลังจะเสริมความแข็งด้วยแผ่นโลหะหรือพลาสติก ที่เรียกว่า กายอุปกรณ์หรือเฝือกพยุงหลัง เฝือกลม เป็นถุงพลาสติกมีที่เก็บลม เมื่อเป่าถุงลมจะพองตัวรัดแขนขาโดยรอบ เป็นการดามชั่วคราว ใช้ในการปฐมพยาบาลและการขนย้ายผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุ เมื่อเลิกใช้ปล่อยลมพับเก็บได้ เป็นต้น.

กนกวรรณ ทองตะโก