“เฝ้าฯ” และ “เข้าเฝ้าฯ”

          เมื่ออ่านพบคำว่า เฝ้าฯ หรือ เข้าเฝ้าฯ ควรสังเกตจากข้อความที่อยู่แวดล้อมด้วย เพื่อให้ทราบว่า เฝ้าฯ ในข้อความนั้น ๆ หมายถึง “เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” หรือ “เฝ้าทูลละอองพระบาท” และ เข้าเฝ้าฯ ในข้อความนั้น ๆ หมายถึง “เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” หรือ “เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท” ข้อมูลเบื้องต้นที่ควรจะต้องทราบคือเรื่องราชาศัพท์ของคำว่า “เข้าพบ” ว่ามีใช้อย่างไรบ้าง ราชาศัพท์ของคำว่า “เข้าพบ” ที่ใช้แก่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ใช้ว่า “เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” หรือจะใช้ว่า “เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” ก็ได้ แต่หากใช้แก่ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช้ว่า “เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท” หรือ “เฝ้าทูลละอองพระบาท” ก็ได้ และหากใช้แก่พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า จนถึงพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ใช้ว่า “เข้าเฝ้า” หรือ “เฝ้า” ดังนั้น หากพบข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เอกอัครราชทูตไทยประจำต่างประเทศเฝ้าฯ เพื่อกราบถวายบังคมลาก่อนเดินทางไปรับตำแหน่งหน้าที่” ก็จะทำให้ทราบได้ว่า “เฝ้าฯ” ในที่นี้ก็คือ “เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” เพราะคำว่า “เข้าพบ” พระมหากษัตริย์ ราชาศัพท์ใช้ว่า “เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” หรือจะใช้ว่า “เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” ก็ได้ ในทำนองเดียวกัน หากพบข้อความว่า “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะภริยารัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ  ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย” ก็จะทราบได้ว่า คำว่า “เข้าเฝ้าฯ” ในความดังกล่าวนี้ก็คือ “เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท” แต่หากพบการใช้คำว่า “เข้าเฝ้าฯ” แก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ก็จะทราบได้ว่าคือรูปย่อของคำว่า “เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท” และหากพบการใช้คำว่า “เฝ้า” หรือ “เข้าเฝ้า” ก็จะทราบได้ว่าเป็นราชาศัพท์ที่ใช้แก่พระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า หรือพระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า หรือพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า  ทั้งนี้ ราชาศัพท์ว่า เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท ที่เขียนในรูปย่อว่า เข้าเฝ้าฯ และ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เฝ้าทูลละอองพระบาท ที่เขียนในรูปย่อได้ว่า เฝ้าฯ นั้น เมื่ออ่านต้องอ่านเต็มคำ จะอ่านว่า เข้า-เฝ้า  หรือ เฝ้า  ไม่ได้ ดังนั้นในกรณีที่จะต้องอ่านคำดังกล่าว ผู้อ่านควรศึกษาก่อนว่าคำว่า เฝ้าฯ หรือ เข้าเฝ้าฯ ในข้อความนั้น ๆ ย่อมาจากคำใด เพื่อให้อ่านได้อย่างถูกต้องและไม่เสียความ.

 สุปัญญา  ชมจินดา