เพลงเกี่ยวข้าว

          “เพลงเกี่ยวข้าว” นับเป็นวัฒนธรรมของชาวนาไทยมาแต่อดีต แม้ว่าในปัจจุบันการเกี่ยวข้าวจะมีวิวัฒนาการมาใช้เครื่องจักรกันบ้างแล้ว แต่เพลงเกี่ยวข้าวก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ในบางสังคม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของคำว่า เกี่ยวข้าว ไว้ว่า เรียกเพลงร้องแก้กันในเวลาเกี่ยวข้าวทํานองเพลงเรือว่า เพลงเกี่ยวข้าว

          พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า เพลงเกี่ยวข้าว เป็นชื่อเพลงพื้นบ้านเพลงหนึ่งทางภาคกลางของไทย นิยมร้องในเวลาลงแขกเกี่ยวข้าวหรือเสร็จจากการทำงาน เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าระหว่างการทำงาน สิ่งที่สำคัญของการร้องเพลงเกี่ยวข้าวคือ ทำให้เกิดความสามัคคีระหว่างเพื่อนบ้านที่ทำงานร่วมกัน การร้องเพลงเกี่ยวข้าวที่มักจะร้องถามถึงการทำนา และการเกี้ยวพาราสีกันบ้างตามประสาเพลงพื้นบ้าน เพลงเกี่ยวข้าวจะไม่มีดนตรีประกอบ แต่ใช้มือปรบเป็นจังหวะแทน เพลงเกี่ยวข้าวมี ๒ ทำนองคือ เพลงเกี่ยวข้าวแบบอยุธยาและเพลงเกี่ยวข้าวแบบสุพรรณ เพลงเกี่ยวข้าวแบบอยุธยามีทำนองเป็นแบบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีร้องสร้อยนำทั้งตอนต้นและตอนจบ

          เพลงเกี่ยวข้าวแบบอยุธยา มีลักษณะคำประพันธ์ที่คำสุดท้ายของแต่ละคำกลอนจะต้องมีสระเสียงเดียวกัน เช่น เสียงอาตลอด หรือเสียงอีตลอด เรียกตามลักษณะคำประพันธ์เพลงพื้นบ้านว่ากลอนหัวเดียว ก่อนที่พ่อเพลงแม่เพลงจะร้องเพลงเกี่ยวข้าวแบบอยุธยา ลูกคู่ที่ร่วมร้องด้วยจะต้องร้องบทที่เรียกว่าสร้อยเสียก่อน และระหว่างที่พ่อเพลงแม่เพลงร้องจบแต่ละคำกลอน ลูกคู่ก็จะร้องรับว่า เฮ้-เฮ้ เว้นคำสุดท้ายของบทกลอนตอนจบ ลูกคู่ก็จะร้องสร้อยรับ

          ส่วนเพลงเกี่ยวข้าวแบบสุพรรณ มีทำนองเป็นแบบของจังหวัดสุพรรณบุรี ลักษณะคำประพันธ์ เป็นกลอนหัวเดียวเหมือนเพลงเกี่ยวข้าวแบบอยุธยา ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ ใช้มือปรบเป็นจังหวะ เพลงเกี่ยวข้าวแบบสุพรรณไม่มีร้องสร้อยทั้งตอนต้นและจบบท แต่ก่อนที่เริ่มร้องพ่อเพลง แม่เพลงจะเอื้อน เอิง…เงย นำบทร้อง ในระหว่างที่พ่อเพลงแม่เพลงร้องจบแต่ละคำกลอน ลูกคู่ก็มีร้องรับว่า เฮ้ ๓ ครั้ง.

อิสริยา เลาหตีรานนท์