เราะมะฎอน (Ramadฺān)

          ด้วยมีผู้สอบถามไปยังราชบัณฑิตยสถานเกี่ยวกับเราะมะฎอนว่าสะกดอย่างไร มีความสำคัญและแตกต่างไปจากเดือนทั่วไปอย่างไร ผู้เขียนในฐานะเป็นกรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากลแห่งราชบัณฑิตยสถาน ขอสรุปความตามที่คณะกรรมการฯ ได้จัดทำคำอธิบายไว้ดังนี้

          เราะมะฎอน เป็นชื่อเดือนที่ ๙ ตามปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนถือศีลอด เป็นเดือนที่อัลลอฮ์ประทานโองการคัมภีร์อัลกุรอานแก่ศาสดามุฮัมมัดเป็นครั้งแรก

          ศีลอด หรือ เศาม์ (Sฺaum) ตามรูปศัพท์ แปลว่า การงดเว้น ซึ่งหมายถึง การงดจากการกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งการกระทำอัตกาม นอกจากนี้ ต้องงดจากการพูดเท็จ พูดหยาบโลน ส่งเสียงอึกทึก และละเว้นอบายมุขทั้งปวง เริ่มตั้งแต่เวลารุ่งอรุณจนถึงตะวันลับขอบฟ้า การถือศีลอดเป็นการฝึกฝนอบรมให้ผู้ปฏิบัติได้สำรวมตนจากความชั่ว ไม่ละเมิดบทบัญญัติของพระเป็นเจ้า ฝึกให้มีความอดทน อดกลั้น ได้ทราบถึงความทุกข์ยาก ความหิวโหยของผู้ยากไร้เมื่ออดอยาก ฝึกให้มีจิตใจโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น

          ก่อนการถือศีลอดนั้นจะมีการเตรียมตัวก่อนถือศีลอด คือให้รับประทานอาหารก่อนเวลารุ่งอรุณ เมื่อถึงเวลารุ่งอรุณจึงถือศีลอด จนกระทั่งเวลาตะวันลับขอบฟ้า จึงละศีลอด

          การกินการดื่มโดยเจตนา การร่วมประเวณี การกระทำอัตกาม การมีประจำเดือน การคลอดบุตร หากเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาถือศีลอด ถือว่าเสียศีลอด จะต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลังตามจำนวนวันที่ศีลอดขาดหายไป

          บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือศีลอด ได้แก่ เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติและผู้วิกลจริต ผู้ที่ได้รับการผ่อนผัน ได้แก่ ผู้ป่วย ผู้เดินทาง (ทั้ง ๒ ประเภทนี้ให้ถือชดใช้ในภายหลัง) หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร กรรมกรยากจนต้องทำงานหนัก คนชรา ผู้ป่วยเรื้อรัง (ทั้ง ๕ ประเภทนี้ให้จ่ายอาหารแก่คนยากจนคนละ ๒ มื้อตามวันที่ขาดศีลอด).

กนกวรรณ ทองตะโก