เรื่องของค้างคาว

          เมื่อเอ่ยถึง ค้างคาว ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่เพียงความหมายของชื่อสัตว์ปีกที่เลี้ยงลูกด้วยนม ลำตัวมีขนปุย เวลาเกาะจะห้อยหัวลง หากินในเวลากลางคืน   ที่จริงแล้วค้างคาวยังเป็นชื่อของความหมายอื่นที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิตอีก  เป็นงานช่างอย่างไทยมี ๓ ความหมาย 

          ความหมายแรกคือ ลายไทยแบบหนึ่งที่หลายคนคงจะเคยเห็น เป็นลายที่ผูกขึ้นเขียนไว้ตามมุมเพดานหรือมุมพนัก มักอยู่ในรูปทรงสามเหลี่ยม ทำหน้าที่อุดมุม โดยจะผูกด้วยแม่ลายกระหนก ๒ ช่อ กระหวัดโคนไขว้กัน พุ่งปลายออกไปในทางตรงข้าม ที่ตรงโคนช่อกระหนกนิยมเขียนลายพุ่มหรือลายประจำยามอุดไว้ เรียกว่า ห้ามลาย ลายที่ผูกขึ้นเพื่ออุดอยู่ตรงมุมนี้ดูคล้ายรูปค้างคาวคลี่ปีก ช่างสมัยก่อนจึงเรียกว่า ลายค้างคาว ในสมัยต่อมาเมื่อมีช่างชาวจีนเข้ามาเขียนลายตกแต่งตามวัดไทยนิยมเขียนเป็นรูปค้างคาวอุดตรงมุมแทนลวดลายอย่างไทย มีตัวอย่างให้เห็นเช่นที่วัดปรมัยยิการาม จังหวัดนนทบุรี 

          ความหมายที่ ๒ คือ ลายปูนปั้นส่วนที่อยู่ใต้ปูนหลบสันหลังคากับหลบชายกระเบื้องหลังปั้นลมหรือใบระกา มักไม่ค่อยตกแต่งลวดลาย ลายปูนปั้นนี้บางทีเรียกว่า ลายผีเสื้อ

          ความหมายที่ ๓ คือ ตัวไม้ที่เป็นโครงสร้างหลังคา ตัวไม้นี้ใช้เป็นเครื่องเหนี่ยวยึดระหว่างเต้ากับจันทันระเบียง (เต้าคือไม้ส่วนที่ยื่นออกไปจากเสาหรือผนังเพื่อรับเชิงกลอน ส่วนจันทันคือโครงสร้างเครื่องบนของหลังคาเรือนไทยทรงปั้นหยาหรือทรงมนิลา)

          นอกจากนี้ค้างคาวยังเป็นชื่อของว่างชนิดหนึ่งทำด้วยแป้งสาลีผสมแป้งถั่วทองนวดกับกะทิและเกลือ แผ่เป็นแผ่นห่อไส้ด้วยกุ้งสับผัดกับรากผักชีตำ พริกไทย เกลือ แล้วทอดน้ำมัน ซึ่งเรียกว่า ขนมค้างคาว

 พัชนะ  บุญประดิษฐ์