เรื่องของมีด

          เคยสงสัยกันบ้างไหมคะว่า มีดที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปมีกี่ชนิด และต่างกันอย่างไร ในวันนี้เราลองมาทำความรู้จักมีด กันสักนิดว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง 

          ไม่น่าเชื่อนะคะว่าในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเก็บคำว่ามีดไว้หลายชนิดด้วยกัน เริ่มต้นก็ต้องทราบก่อนว่า มีด เป็นคำนาม หมายถึง เครื่องใช้สำหรับฟัน ผ่า จัก เหลา เป็นต้น ทำด้วยโลหะมีเหล็กเป็นต้น ใบมีดมีลักษณะเป็นแผ่น รูปยาวรี มีคมด้านหนึ่ง มีสันอยู่อีกด้านหนึ่ง หรือมีคมทั้ง ๒ ด้าน ปลายมีดรูปร่างแหลมก็มี ป้านก็มี โคนมีดเป็นกั่นรูปเดือยเรียวแหลม หรือเป็นแผ่นสอดติดอยู่ในด้ามซึ่งมักทำด้วยไม้หรือเขาสัตว์ มีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามลักษณะและวัตถุประสงค์ที่ใช้

          ชนิดของมีดก็เช่น มีดแกะ หมายถึง มีดขนาดเล็ก ใบมีดแบนยาวปลายตัดเฉียงและแหลม คมมีดอยู่ตรงปลายเฉียง มีด้าม ใช้ในงานแกะไม้ มีดโกน  หมายถึง มีดสำหรับโกนผมหรือหนวดเคราเป็นต้น มีดโกนอย่างเก่ารูปร่างคล้ายมีดโต้ สันหนา คมบาง ปรกติมีฝักหุ้มส่วนคม มีดโกนอย่างใหม่ใบมีดยาวรี สันหนา คมบาง มีฝักหุ้มคมเช่นกัน มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มีดโกนโมกุล  มีดขอ  หมายถึง มีดขนาดใหญ่ ใบมีดยาว ปลายงอเป็นรูปขอ ด้ามยาว ๑–๒ ศอก ใช้สำหรับเกี่ยว ตัด ลิด หรือราน พร้าขอ ก็เรียก มีดคว้าน  หมายถึง มีดขนาดเล็ก ใบมีดรูปยาวรีคล้ายใบหญ้า มักทำด้วยทองเหลือง ปลายแหลมโค้งเล็กน้อย ด้ามมักทำด้วยไม้หรือเขาสัตว์ ใช้ปอก จัก คว้านผลไม้  มีดเจียนหนัง  หมายถึง มีดขนาดย่อม ใบมีดเป็นแผ่นแบนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคมอยู่ตรงปลายมีดที่ตัดเผล้ ส่วนโคนมีกั่นโค้งงอคล้ายคอห่านสอดติดกับด้ามขนาดพอกำได้สะดวก ใช้ตัดเจียนหนังสัตว์  มีดชายธง หมายถึง มีดขนาดย่อม ใบมีดเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ยาวประมาณ ๑ คืบ ด้ามสั้น ใช้พกเป็นอาวุธ  มีดแป๊ะกั๊ก หมายถึง มีดขนาดใหญ่ ใบมีดรูปแบนยาวประมาณ ๑ ศอก สันหนา ด้ามทำด้วยไม้ไผ่ยาวประมาณ ๓ ศอก ใช้เป็นอาวุธสำหรับทหารเดินเท้าในกองทัพสมัยโบราณ

          ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นนะคะ ยังมีมีดอีกหลายชนิด ถ้าสนใจก็ติดตามได้จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ค่ะ.

จินดารัตน์  โพธิ์นอก