เลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน

          กรณีการเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน (Boston Tea Party)  มิใช่เป็นชื่องานเลี้ยงรื่นเริงหรืองานสังสรรค์กันแต่อย่างใด  แต่เป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง

          สารานุกรมประวัติศาสตร์สากล ภูมิภาคอเมริกา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้คำอธิบายเหตุการณ์นี้ สรุปได้ว่า  กรณีการเลี้ยงน้ำชาที่บอสตันเป็นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่ชาวอาณานิคมอเมริกันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ อันนำไปสู่สงครามการปฏิวัติของชาวอเมริกันใน ค.ศ. ๑๗๗๖  เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๗๓  ซึ่งเป็นช่วงที่ชาวอาณานิคมได้ผ่านการต่อต้านมาตรการหลายอย่างของอังกฤษโดยเฉพาะการเก็บภาษีอาณานิคม ชาวอาณานิคมสามารถทำให้อังกฤษยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ได้ ยกเว้นภาษีใบชา  กรณีการเลี้ยงน้ำชาที่บอสตันนี้เป็นเหตุการณ์ซึ่งรัฐบาลอังกฤษพยายามใช้มาตรการภาษีมาแก้ปัญหาการเงินของอังกฤษ  แต่กลับทำให้ชาวอาณานิคมยิ่งเพิ่มความรู้สึกเป็นศัตรูต่ออังกฤษ  ต้นเหตุของการประกาศบังคับเก็บภาษีใบชาก็เพราะบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษประสบภาวะขาดทุนอย่างมาก  ทรัพย์สินส่วนที่เหลือคือใบชา ๑๗ ล้านปอนด์  แต่กลับขายไม่ออกเพราะชาวอาณานิคมอเมริกันพากันคว่ำบาตรการสั่งซื้อสินค้าจากอังกฤษ  รัฐบาลอังกฤษจึงได้ออกพระราชบัญญัติใบชาเพื่อลดภาษีใบชา  ทำให้ราคาใบชาของอังกฤษถูกลง  แต่สำหรับชาวอาณานิคมอเมริกันแล้ว แท้จริงกฎหมายใบชาเป็นแผนการที่อังกฤษจะทำลายพ่อค้าอเมริกันที่คัดค้านอังกฤษ เพราะอังกฤษให้สัมปทานนี้เฉพาะพ่อค้าที่เป็นพวกสนับสนุนอังกฤษเท่านั้น  เมื่อข่าวเรื่องการออกพระราชบัญญัติใบชาแพร่ออกไปทำให้ชาวอาณานิคมไม่พอใจเป็นอย่างมาก  จนในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๗๗๓ มีเรือสินค้า ๓ ลำบรรทุกใบชามายังท่าเรือบอสตัน  และในเย็นวันที่ ๖ ธันวาคมนั้นเอง ผู้นำคนหนึ่งของฝ่ายอาณานิคมที่ต่อต้านอังกฤษพร้อมกับพรรคพวกได้ขึ้นไปบนเรือดังกล่าวและเทใบชาทิ้งทะเล จนนำไปสู่การที่อังกฤษปิดท่าเรือบอสตันและเป็นจุดเริ่มต้นของการออกพระราชบัญญัติการใช้กำลังบีบบังคับอาณานิคมใน ค.ศ. ๑๗๗๔.

        อิสริยา  เลาหตีรานนท์