เวลา

          เผลอประเดี๋ยวเดียว เวลาก็ล่วงเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนแล้วนะคะ อีกไม่นานก็จะผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปี คำกล่าวที่ว่า เวลาและวารีไม่เคยรอใคร เป็นคำกล่าวที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย  ในศัพท์วิชาการก็มีการนำเรื่องของเวลามาพิจารณาด้วย เช่น การวิเคราะห์อนุกรมเวลา (time series analysis)  พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หมายถึง การวิเคราะห์ชุดของค่าต่าง ๆ ของตัวแปรใดตัวแปรหนึ่ง ที่ปรากฏหรือเป็นอยู่ ณ เวลาต่างกัน ซึ่งค่าของตัวแปรนี้อาจเปลี่ยนแปลง หรือแตกต่างกันได้เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป เช่น ระดับของรายได้ประชาชาติในปีต่าง ๆ ราคาเฉลี่ยของสินค้าในแต่ละเดือน

          นอกจากนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์ยังได้นำเวลามาศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น การเลือกเวลาใช้จ่าย (time preference) หมายถึง ความรู้สึกพึงพอใจของผู้บริโภคระหว่างการบริโภคสินค้าหรือบริการในปัจจุบันกับการบริโภคสินค้าหรือบริการเดียวกันนั้นในอนาคต เนื่องจากความไม่แน่นอนว่าจะได้บริโภคสิ่งนั้นในอนาคตหรือไม่ การลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์หน่วยท้ายสุด และความต้องการของผู้บริโภคเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของรายได้หรือรสนิยม ซึ่งโดยทั่วไปผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะพึงพอใจการบริโภคในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต แต่ถ้าผลตอบแทนของการรอคอยมีมากกว่าผู้บริโภคก็อาจจะเลือกที่จะบริโภคในอนาคตแทนการบริโภคในปัจจุบัน

          ส่วน ช่วงล่าของเวลา (time lag) หมายถึง ระยะเวลาระหว่างรอให้ผลของการใช้นโยบายหรือมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะปรากฏผล เนื่องจากกระบวนการในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจะต้องอาศัยระยะเวลาในการตอบสนองอย่างน้อยระยะหนึ่ง ซึ่งรวมถึงการที่หน่วยเศรษฐกิจไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคหรือการผลิตได้ทันที ดังนั้นการจะประเมินว่านโยบายหรือมาตรการใดจะสำเร็จผลตามเป้าหมายหรือไม่นั้น  จึงจำเป็นจะต้องคำนึงถึงระยะเวลาภายหลังการใช้นโยบายนั้น ๆ เสมอไปด้วย

          จินดารัตน์  โพธิ์นอก