เว้นวรรค

          ในเรื่องของการเว้นวรรค หลายท่านอาจเข้าใจว่า เป็นเรื่องไม่สำคัญอะไรมากนัก แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ลองดูวลีว่า “ทำให้แข็งแรง  ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน” กับ “ทำให้แข็ง  แรงไม่มี  โรคภัยเบียดเบียน” ทั้ง ๒ วลีนี้มีความหมายไปคนละอย่างทั้ง ๆ ที่เขียนเหมือนกันทุกตัวอักษร ต่างแต่เว้นวรรคไม่เหมือนกันเท่านั้น ดังนั้น จะกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญไม่ได้แล้ว

          คำ “เว้นวรรค” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้คำอธิบายว่า “เว้นช่วงของคำ ข้อความ หรือประโยคเป็นระยะ ๆ” ในพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถานได้อธิบายไว้ในแนวทางของคำที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทยเนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลง เกิดสิ่งใหม่ ๆ และมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นว่า “๑. ลาพักหรือลาออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ หรือยุติบทบาทสำคัญชั่วระยะหนึ่ง เช่น หลังจากถูกกดดันให้ลาออก นายกรัฐมนตรีประกาศขอเว้นวรรคทางการเมืองชั่วเวลาหนึ่ง โดยจะหาผู้ที่เหมาะสมมารักษาการแทน ๒. พูดไม่หยุดพัก เช่น เขาเป็นคนพูดเร็วมาก ไม่เว้นวรรคเลย”

          ราชบัณฑิตยสถานได้พิมพ์หนังสือ “หลักเกณฑ์การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ” เป็นหนังสือขนาด ๑๖ หน้ายกพิเศษ หนา ๗๐ หน้าออกเผยแพร่ เนื้อหาได้กล่าวถึงเครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่น ๆ เช่น มหัพภาค จุด จุลภาค เครื่องหมายวรรคตอนโบราณ เช่น ฟองมันหรือตาไก่ ฟองมันฟันหนูหรือฟันหนูฟองมัน ลักษณนามของเครื่องหมายวรรคตอน หลักเกณฑ์การเว้นวรรค หลักเกณฑ์การเขียนคำย่อ ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างหลักเกณฑ์ของการเว้นวรรค ดังนี้

          ชื่อบริษัท ธนาคาร ฯลฯ กับคำ “จำกัด” ที่อยู่ท้ายชื่อ ให้เว้นวรรคเล็ก ตัวอย่าง
          บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มั่นคง จำกัด

          ระหว่างคำ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” และ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” กับชื่อ ให้เว้นวรรคเล็ก ตัวอย่าง 
          ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีวรสิน  ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ปัญญากิจ

          อ่านแล้วยังติดใจสงสัย สามารถหารายละเอียดทั้งหมดได้ในหนังสือดังกล่าว

สำรวย นักการเรียน