เศรษฐกิจ

แม้ “เศรษฐกิจ” จะเป็นคำที่ใคร ๆ พูดถึงอยู่เป็นประจำ  แต่ “เศรษฐกิจ”ก็มีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น ถ้าเด็กนักเรียนพูดว่า วันนี้เศรษฐกิจไม่ดี อาจจะหมายความว่า แม่ให้เงินค่าขนมมาน้อย  แต่เศรษฐกิจไม่ดีในความคิดของพ่อค้าแม่ค้า โดยมากจะหมายถึงขายของไม่ดี   อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจ ในทางวิชาการ มีความหมายต่างออกไป ซึ่งอาจจะฟังเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันในวงการเศรษฐศาสตร์  พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า เศรษฐกิจ (economy) หมายถึง ระบบที่มีการบริหารจัดการโดยองค์การทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภค  ในพจนานุกรมเล่มนี้ มีศัพท์ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหลายคำที่ใช้กันแพร่หลาย เช่น เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง เศรษฐกิจแบบฟองสบู่

เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง(economic self-sufficiency; autarky)   หมายถึง การผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคตามสภาพของพื้นที่ภูมิศาสตร์ อาจเป็นการบริโภคภายในชุมชนหรือภายในประเทศหรือดินแดนที่มีขอบเขตจำกัด แต่เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองมักจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประชาชนมักจะมีความต้องการสินค้าและบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา แต่ความสามารถในการผลิตภายในประเทศไม่มารถตอบสนองได้ จึงมักจะมีการค้าแลกเปลี่ยนกับประเทศอื่น

เศรษฐกิจฟองสบู่ (bubble economy)  หมายถึง สภาวการณ์ที่สินค้าต่าง ๆ สูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีสาเหตูสำคัญมาจากการเก็งราคาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างรวดเร็วจึงอาจจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะหนึ่ง เกิดเป็นภาพลวงทางการเงิน(money illusion)  จึงทำให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดสินค้าอื่นตามมาด้วย  เมื่อความเจริญเติบโตในภาคเศรษฐกิจแท้จริง (real sector) ไม่สัมพันธ์กับระดับราคาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ในที่สุดราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ขึ้นไปอย่างรวดเร็วแบบฟองสบู่จะอยู่ไม่ได้ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ฟองสบู่แตก  เศรษฐกิจก็จะหดตัวลงมาอย่างรวดเร็ว

แสงจันทร์  แสนสุภา