เสียงคำจีนในคำไทย

          คำภาษาจีนที่ยืมมาใช้ในภาษาไทยซึ่งปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้นคำภาษาจีนแต้จิ๋วคำเดียวกันเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยมักมีการเขียนและออกเสียงต่างกัน  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะตำแหน่งของพยางค์นั้นในคำประสมของจีนหรือมาจากเสียงที่ได้ยินครั้งแรกแล้วใช้กันต่อ ๆ มาจนแพร่หลาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

          ชื่ออาหารที่ทำจากแป้ง มีลักษณะเป็นก้อน แผ่น หรือเส้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ซึ่งมีพยางค์หลักของคำประสมตรงกับคำในภาษาจีนแต้จิ๋วที่ออกเสียงว่า “ก๋วย” เมื่อเป็นพยางค์แรก  และ “ก้วย” เมื่อเป็นพยางค์ท้าย แต่คนไทยมักออกเสียงต่างไปจากเดิม คือ ออกเสียงเป็น “กวย” และ “ก๋วย” เมื่อเป็นพยางค์แรก  เช่น กวยจั๊บ  ก๋วยเตี๋ยว และออกเสียงเป็น “ก๊วย” เมื่อเป็นพยางค์ท้าย เช่น  เฉาก๊วย 

          ชื่อผักซึ่งมีพยางค์หลักของคำประสมตรงกับภาษาจีนแต้จิ๋วที่ออกเสียงว่า “ไช้” เมื่อเป็นพยางค์แรก และ “ไฉ่” เมื่อเป็นพยางค์ท้าย  คนไทยออกเสียงได้เหมือนเดิมเมื่อเป็นพยางค์แรก เช่น  ไช้เท้า (ปรากฏในนิยามของคำ กาด ๑) แต่เมื่อเป็นพยางค์ท้ายมีทั้งที่ออกเสียงเหมือนเดิม เช่น  กงไฉ่  เกี้ยมไฉ่  และออกเสียงต่างไปจากเดิมเป็น “ช่าย” และ “ฉ่าย” เช่น  กุยช่าย จับฉ่าย  ตังฉ่าย 

         ชื่อน้ำมันและเครื่องปรุงรส ซึ่งมีพยางค์หลักของคำประสมตรงกับภาษาจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “อิ่ว” เมื่อเป็นพยางค์แรก  และออกเสียงเป็น “อิ๊ว” เมื่อเป็นพยางค์ท้าย คนไทยออกเสียงต่างไปจากเดิมเป็น “อิ้ว” เมื่อเป็นพยางค์แรก  เช่น  อิ้วจาก๊วย (ปรากฏในนิยามของคำ ปาท่องโก๋) และออกเสียงเป็น “อิ้ว” และ “อิ๊ว” เมื่อเป็นพยางค์ท้าย เช่น  ซี่อิ้ว ซีอิ๊ว 

    ลัดดา  วรลัคนากุล