เสือก

         เมื่อหลายเดือนก่อน ผู้เขียนเกือบมีเรื่องผิดใจกับเพื่อนร่วมงาน เพียงเพราะคำว่า “เสือก” คำเดียว

          เรื่องมีอยู่ว่า ช่วงพักรับประทานอาหารกลางวัน เพื่อนร่วมงานของผู้เขียนได้มานั่งคุยกับผู้เขียนที่โต๊ะทำงาน และเมื่อลุกกลับ ก็ไม่เก็บเก้าอี้เข้าใต้โต๊ะดังเดิม ผู้เขียนจึงบอกกับเพื่อนว่า “นั่งแล้ว ทำไมไม่เสือกเก็บเก้าอี้ให้ด้วย” เมื่อผู้เขียนพูดประโยคดังกล่าวจบ เพื่อนของผู้เขียนก็โวยวายทันทีว่า “จะให้เก็บก็บอกกันดี ๆ ก็ได้ ไม่เห็นต้องว่ากันเลย” 

          ในตอนแรกนั้น ผู้เขียนยังไม่เข้าใจว่าเพื่อนโวยวายด้วยเหตุอะไร แต่เมื่อเพื่อนบอกว่า “ทำไมต้องมาว่าเขาว่าเสือกด้วย”   นั่นแหละ ผู้เขียนจึงได้เข้าใจ เลยต้องเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายกันเสียยกใหญ่ กว่าจะเข้าใจตรงกัน

          ดังนั้น เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวต้องเกิดขึ้นกับผู้อ่านคอลัมน์ “องค์ความรู้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสถาน” ผู้เขียนจึงขออธิบายให้ได้ทราบถึงความหมายของคำว่า “เสือก” ดังนี้

          เสือก เป็นคำกริยา มีความหมายว่า ไสไป ผลักไป; สาระแน (เป็นคำไม่สุภาพ)

          นอกจากนี้ คำว่า “เสือก” ยังใช้ประกอบกับคำอื่นด้วย เช่น กระเสือกกระสน เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ดิ้นรนเพื่อให้พ้นความทุกข์ยากเป็นต้น  เสือกไส เป็นคำกริยา หมายถึง ส่งไปที่อื่นเพื่อให้พ้นไป มักใช้เข้าคู่กับคำ ไสส่ง เป็น เสือกไสไล่ส่ง  เสือกกะโหลก เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง สาระแนเข้าไปทำการโดยไม่มีใครต้องการให้ทำ

          เมื่ออ่านจบแล้ว ผู้อ่านคงเข้าใจแล้วนะคะว่า คำว่า “เสือก” ในประโยคที่ผู้เขียนได้พูดกับเพื่อนนั้น หมายความว่า ไสไป ผลักไป ไม่ได้มีเจตนาว่าเพื่อนด้วยคำไม่สุภาพเลย.

พรทิพย์   เดชทิพย์ประภาพ