เห็ด

          หน้าฝนที่ผ่านมา ทั่วทุกภาคของประเทศดูจะไม่ค่อยสดใสนัก เพราะมองไปทางไหนก็ดูจะมีน้ำท่วมขังอยู่ทั่วไป การเดินทางลำบากโดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อฝนตกรถก็ติด หลายท่านจึงเกลียดหน้าฝนไปเลย ผิดกับชาวบ้านในชนบทที่เฝ้ารอหน้าฝน เพราะนั่นหมายความว่า ฤดูกาลแห่งความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณกำลังจะมาถึง เช่นเดียวกับผืนป่าหน้าฝนที่สิ่งมีชีวิตหลายชนิดเริ่มสร้างชีวิตใหม่ โดยเฉพาะเห็ดรานานาชนิดที่จะออกดอกในช่วงต้นฤดูฝน หลายคนเข้าใจว่าเห็ดราเป็นพืชชนิดหนึ่ง ความจริงแล้วเห็ดราไม่ใช่พืช แต่จัดเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทใดนั้น ลองตามมาดูกันสิคะ

          เห็ดรา รา หรือ เชื้อรา เป็นคำที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติใช้กับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า fungi คณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานพืชได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า นานาประเทศได้จัดจำแนกเห็ดราออกไปต่างหากจากพืชทั่วไป โดยจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ ไม่มีคลอโรฟิลล์ การดำรงชีพจึงมีทั้งที่เป็นแบบกินซาก (saprophyte) ตัวเบียน (parasite) และสมชีพ (อ่านว่า สะ-มะ-ชีพ หรือ สม-มะ-ชีพ) (symbiosis) มักพบในดินเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งที่เป็นเซลล์เดียวและหลายเซลล์ต่อกันเป็นเส้น เรียก ใยรา (hypha) ลักษณะเฉพาะของราคือ มีผนังเซลล์ที่ประกอบด้วยไคทิน (chitin) ซึ่งแตกต่างจากพืชที่มีผนังเซลล์เป็นเซลลูโลส (cellulose) และลิกนิน (lignin) ราพัฒนาโดยตรงมาจากสปอร์โดยไม่มีระยะที่เป็นเอมบริโอใยรามักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (mycelium) บางชนิดรวมตัวกันคล้ายเนื้อเยื่อพืช (pseudoparenchyma) โครงสร้างชัดเจน เช่น ดอกเห็ด การสืบพันธุ์มีทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงจัดรารวมไว้ในอาณาจักร Protista แยกออกจากพืช และในปัจจุบันยังมีผู้จำแนกสิ่งมีชีวิต โดยจัดราขึ้นเป็นอาณาจักรFungi หรือ Mycota แยกจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย

  อารี  พลดี