เอลนีโญและลานีญาปรากฏการณ์ที่ไทยต้องเผชิญ

          จากรายงานสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ผ่านมาเกี่ยวกับการเฝ้าระวังการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ตั้งแต่ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ ๒๕๔๙ จนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐  เพื่อสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยามีรายงานสภาพอากาศ ว่าอาจเกิดปรากฏการณ์ลานีญาขึ้นอีกครั้งในประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวของปีนี้

          จากปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันจึงขอให้รายละเอียดปรากฏการณ์ทั้ง ๒ ปรากฏการณ์ ดังนี้ พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำ เอลนีโญ (El Niño) ว่าหมายถึง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว   เมื่อกระแสน้ำเย็นเปรูบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ถูกกระแสน้ำอุ่นจากศูนย์สูตรไหลเข้ามาแทนที่  ทำให้อุณหภูมิที่ผิวน้ำสูงขึ้น ๑๐ องศาเซลเซียส อันเป็นผลจากการอ่อนกำลังลงของลมค้าตะวันออกเฉียงใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น จะมีผลกระทบต่อภูมิอากาศของบริเวณชายฝั่งใกล้เคียงในลักษณะที่ทำให้ฝนตกน้อยลง  ส่วนความหมายของคำ ลานีญา (La Niña) นั้นหมายถึง ปรากฏการณ์ทางสมุทรศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ มีลักษณะตรงกันข้ามกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ปรากฏการณ์ลานีญาเกิดจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้มีกำลังแรงมากกว่าปรกติ  จึงพัดพาน้ำทะเลที่พื้นผิวจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรไปสะสมกันอยู่ทางด้านตะวันตก  ส่งผลให้บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำเย็นเปรูรุนแรงกว่าเดิม  อุณหภูมิของน้ำทะเลที่พื้นผิวลดต่ำลงมาก พร้อมกันนั้นอากาศบนพื้นแผ่นดินก็แห้งแล้งไม่มีฝน ในทางตรงกันข้ามบริเวณชายฝั่งตะวันออกของทวีปออสเตรเลีย หมู่เกาะอินโดนีเซียและหมู่เกาะฟิลิปปิน ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก จะมีอุณหภูมิสูงกว่าปรกติ และมีปริมาณฝนบนผืนแผ่นดินมากขึ้นด้วย  ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากปรากฏการณ์ดังกล่าวมากเท่าประเทศอื่นๆ แต่ก็ควรมีการเฝ้าระวังและเตรียมรับมือกับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

        อิสริยา  เลาหตีรานนท์