แปรงจากต้นไม้

          หลายท่านคงจะไม่ทราบว่าเราสามารถนำต้นไม้มาทำเป็นแปรงได้ แปรงที่จะกล่าวถึงนี้เป็นแปรงที่ใช้ในงานจิตรกรรมไทย คือ แปรงเปลือกต้นกระดังงา และ แปรงรากลำเจียก 

          แปรงเปลือกต้นกระดังงา เป็นแปรงขนาดใหญ่ทำจากเปลือกต้นกระดังงาสด โดยใช้สิ่วหน้าตัดใหญ่เลาะลอกเปลือกออกมาจากลำต้น แล้วเจียนให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ ตากลมไว้ราว ๑-๒ วัน จากนั้นจึงทุบปลายข้างหนึ่งให้เปลือกแตกออกจนเหลือแต่เส้นใย ตากให้แห้งสนิทแล้วนำไปชุบน้ำเพื่อทุบแต่งเส้นใยอีกครั้ง แล้วจึงนำไปตาก เมื่อแห้งสนิทแล้วเปลือกจะหดตัว หน้าแปรงจึงมีรูปร่างโค้งน้อย ๆ และเมื่อต้องการนำไปใช้ต้องชุบน้ำให้เส้นใยนุ่มก่อน เมื่อใช้แล้วต้องล้างและบีบสะบัดให้แห้ง  แปรงเปลือกต้นกระดังงาใช้ในการระบายสีบนพื้นที่กว้าง ๆ และใช้ระบายประสานสี เช่น ใช้จุ่มสีอ่อนกระทุ้งบนพื้นสีแก่  และเนื่องจากเส้นใยของแปรงมักสึกกร่อนจากการใช้ จึงต้องทำไว้คราวละหลาย ๆ อัน

          แปรงรากลำเจียก ทำจากรากค้ำของต้นลำเจียก โดยนำมาตัดแบ่งเป็นซีก ๆ เหลาให้กลม แล้วทุบตรงส่วนปลายให้เป็นฝอย รากนี้มีเนื้อเยื่อนุ่มและเหนียวพอควร จึงต้องทุบเบา ๆ หรืออาจใช้นิ้วบีบขยี้จนนุ่มก็ได้ จากนั้นใช้ด้ายมัดส่วนโคนของปลายที่เป็นฝอยไว้ ใช้กระดาษหรือผ้าหุ้มส่วนที่ใช้เป็นด้าม การทำแปรงเปลือกรากลำเจียกจะทำหลายขนาดเพื่อให้เหมาะกับการเขียนภาพต่าง ๆ ในงานจิตรกรรมไทย โดยจะใช้จุ่มสีอ่อนกระทุ้งบนพื้นสีแก่เป็นภาพเช่นพุ่มไม้ และใช้ระบายประสานสีเช่นเดียวกับแปรงเปลือกต้นกระดังงา

          ปัจจุบันวัสดุจากธรรมชาติคือเปลือกต้นกระดังงาและรากค้ำของต้นลำเจียกหายากขึ้น ในงานจิตรกรรมไทยจึงใช้พู่กันแทน แต่แปรงทั้ง ๒ ชนิดนี้ก็ยังมีใช้อยู่ เช่น ใช้ในการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยรอบพระระเบียงของพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แปรงทั้ง ๒ ชนิดนับเป็นภูมิปัญญาของช่างไทยอีกอย่างหนึ่ง

   พัชนะ  บุญประดิษฐ์