แพะกับแกะ

          แพะและแกะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กินพืช ดูเผิน ๆ มีความคล้ายคลึงกันมากจนเกิดเป็นสำนวน เหมือนกันราวแพะกับแกะ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้บทนิยามคำแกะว่า ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องในสกุล Ovis  วงศ์ Bovidae รูปร่างคล้ายแพะ แต่มีขนเป็นปุยหนา ใช้ทําเครื่องนุ่งห่ม และให้บทนิยามคำแพะว่า ชื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิด Capra hircus  ในวงศ์ Bovidae เป็นสัตว์กีบคู่ขนาดกลาง มีความอดทน แข็งแรง และทนทานต่อโรคได้ดีกว่าสัตว์กีบคู่อื่น ๆ สามารถปีนป่ายที่สูงโดยเฉพาะโขดหินหรือภูเขาได้ดี ขนหยาบสีดํา ขาว หรือนํ้าตาล มีเขา ๑ คู่ ตัวผู้มีเครา หางสั้น

          บุญส่ง เลขะกุล อธิบายไว้ใน สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๒๑ ซึ่งยกมาอธิบายบางตอนว่า แพะโดยทั่วไป มีรูปร่างคล้ายแกะ มีลักษณะสำคัญที่ผิดกันซึ่งชาวบ้านธรรมดาจะเห็นได้ง่าย คือแพะมีเคราใต้คาง ส่วนแกะไม่มี นอกจากนั้น แพะตัวผู้จะมีต่อมกลิ่นสาบที่ใต้โคนหาง กลิ่นสาบของแพะจะกระจายจากต่อมนี้ไปทั่วตัว เรียกกันว่า กลิ่นแพะ แกะไม่มีต่อมสาบที่ใต้โคนหาง แพะไม่มีต่อมกลิ่นที่หว่างกีบ แพะมักมีเขายาวคล้ายดาบโค้งไปทางข้างหลัง แกะมักมีเขาม้วนกลับไปใต้หู แต่ก็ไม่เสมอไป แพะมักมีขนเป็นเส้นตรง ๆ ส่วนมากเป็นขนสั้น ๆ บางชนิดที่เลี้ยงไว้บนที่ราบสูงเพื่อเอาขนอาจมีขนยาว แต่แกะมีขนม้วนหนาไปทั่วตัว

          ปัจจุบัน มีผู้นำแพะป่าไปเลี้ยงเป็นแพะบ้านมากมายหลายประเทศ บางประเทศเลี้ยงเพื่อเอาขนไปทำเสื้อกันหนาว จึงต้องเลี้ยงไว้บนที่ราบสูง ที่มีอากาศหนาว บ้างก็เลี้ยงไว้เพื่อกินนม เป็นแพะนม บ้างก็เลี้ยงเพื่อกินเนื้อ ซึ่งชาวมุสลิมชอบกินมาก ปัจจุบันจึงมีแพะบ้านผิดแผกแตกต่างกันออกไปหลายชนิด บางชนิดยังมีเขา บางชนิดเขาหายไปทั้งตัวผู้ตัวเมีย แต่ยังมีเคราใต้คางเหลืออยู่เป็นสัญลักษณ์ของแพะต่อไป

          ปลาทะเลชนิดหนึ่งมีลักษณะเด่นพิเศษคือ มีหนวดใต้คาง ๒ เส้น จึงได้ชื่อว่า ปลาแพะ นอกจากนี้ ผู้ชายที่มีเคราที่ใต้คางยังเรียกว่ามีเคราแพะ.

รัตติกาล ศรีอำไพ