แม่น้ำโขง

          คนไทยส่วนใหญ่คงจะรู้จักแม่น้ำโขงกันเป็นอย่างดี  แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านหลายประเทศ ทั้งจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เป็นเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงดินแดนบริเวณนี้  ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งประมงน้ำจืด เป็นเส้นทางคมนาคม และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกด้วย ยิ่งเมื่อมีข่าวการสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำโขงที่ประเทศจีน ก็ยิ่งทำให้มีการตื่นตัวในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในลำน้ำโขงแห่งนี้มากขึ้นด้วย 

          แม่น้ำโขง หรือภาษาอังกฤษเขียนว่า Mekong เป็นแม่น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาถังกูลา ทางตะวันออกของเขตปกครองตนเองทิเบต ในประเทศจีน แม่น้ำนี้ไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านมณฑลหยุนหนานซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน และผ่านด้านตะวันออกของอินโดจีน กลายเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศลาวกับประเทศพม่า และเป็นเส้นเขตแดนส่วนใหญ่ระหว่างประเทศลาวกับประเทศไทย แล้วไหลต่อไปทางใต้ ผ่านประเทศกัมพูชาและตอนใต้ของประเทศเวียดนาม ลงสู่ทะเลจีนใต้ โดยมีสาขาแยกออกที่ปากน้ำหลายแห่ง แม่น้ำโขงมีความยาวประมาณ ๔๒๐๐ กิโลเมตร ด้านตะวันออกได้รับน้ำจากแม่น้ำหยางปี้ทางตอนกลางของมณฑลหยุนหนาน แม่น้ำส่วนที่อยู่ในมณฑลหยุนหนานไหลผ่านโกรกธารลึก และอยู่ใกล้กับช่วงตอนบนของแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำฉางเจียง แม่น้ำโขงใช้เดินเรือได้ถึงเมืองหลวงพระบางในประเทศลาว ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเจ้าอันอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำนี้มีชื่อเรียกในภาษาอื่นอีก คือ แม่น้ำจาชู (Dza-Chu) ในภาษาทิเบต และแม่น้ำหลานชาง (Lanchang) ในภาษาจีน 

          อนึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ  ณ นคร ราชบัณฑิต ได้เคยให้ข้อคิดไว้ว่า ชื่อแม่น้ำโขงนี้ มีเพียงผู้คนในไทยที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขง เรียกแม่น้ำนี้ว่า แม่น้ำโขง  แต่ผู้คนที่อยู่อาศัยในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงทั้งสองฝั่ง เรียกแม่น้ำนี้ว่า แม่น้ำของ ทั้งสิ้น.

ปิยรัตน์  อินทร์อ่อน