แรด

          หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทยที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งจะต้องไปดูเมื่อมีโอกาสเข้าไปเที่ยวในสวนสัตว์ก็คือแรด แรด มีกี่ชนิด อะไรบ้าง และเพราะเหตุใดจึงชอบนอนแช่ในน้ำและแช่ในปลักโคลน  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๒๖  มีคำตอบ

          รด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนบก มีขนาดใหญ่รองจากช้าง จัดเป็นสัตว์กีบ ลำตัวใหญ่ แข็งแรง ผิงหนังหนาลักษณะมีรอยพับของหนังตามส่วนต่าง ๆ ของลำตัว ตามลำตัวมีขนน้อย ยกเว้นปลายส่วนหางและของใบหู มีสายตาไม่ดี แต่มีประสาทรับกลิ่นและการได้ยินดี มีอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้และป้องกันตัวคือ นอ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเส้นใยเคราติน (keratin) ลักษณะคล้ายเส้นผม เมื่อฉีกขาดก็สามารถงอกทดแทนใหม่ได้  และเนื่องจากแรดไม่มีต่อมเหงื่อจึงต้องรักษาอุณหภูมิในร่างกายและป้องกันแมลงมารบกวนด้วยการนอนแช่ในน้ำและแช่ในปลักโคลน  แรดเป็นสัตว์กินพืชที่หากินทั่วไปตามทุ่งหญ้าและชายป่า ใช้กองอุจจาระและปัสสาวะเป็นการบอกอาณาเขต

          แรดมี ๕ ชนิด ในทวีปเอเชียมี ๓ ชนิด ได้แก่ ๑) แรดอินเดีย มีนอเดียว ถิ่นอาศัยแพร่กระจายในประเทศอินเดียทางตะวันออก เนปาล และปากีสถาน  ๒) แรดชวา มีนอเดียว ถิ่นอาศัยแพร่กระจายในประเทศอินโดนีเซีย และเคยพบในประเทศไทย และ ๓) แรดสุมาตรา มีขนาดเล็กที่สุดในโลก  มี ๒ นอ ถิ่นอาศัยแพร่กระจายในประเทศพม่า ไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย  ชื่ออื่น ๆ เช่น กระซู่ แรดสองนอ    ในทวีปแอฟริกามี ๒ ชนิด ได้แก่ ๑) แรดดำ มี ๒ นอ ถิ่นอาศัยแพร่กระจายทางตะวันออกและทางใต้ของทวีปแอฟริกา  และ ๒) แรดขาว มี ๒ นอ ถิ่นอาศัยแพร่กระจายทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

          และเนื่องจากแรดเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแรง บึกบึน และทนต่อสภาพแวดล้อม จึงมีความเชื่อกันว่าอวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น นอ กระดูก เลือด มีคุณสมบัติในการเสริมกำลังและเป็นยาอายุวัฒนะ เป็นเหตุให้แรดถูกล่าเพื่อนำส่วนต่าง ๆ มาทำเป็นเครื่องยา  ในปัจจุบันแรดชวาและแรดสุมาตราจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยที่ใกล้จะสูญพันธุ์.

       กนกวรรณ  ทองตะโก